การนอนชดเชยในวันหยุด แก้ผลเสียจากการอดนอนต่อเนื่องไม่ได้

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

ผลเสียต่อระบบเมตาบอลิสมและจังหวะนาฬิกาชีวภาพเนื่องจากอดนอนต่อเนื่อง ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปรกติได้ด้วยการนอนหลับชดเชยในช่วงวันหยุด

โลกในยุค Digital Age ทำให้สังคมมนุษย์กลายเป็น sleepless society หลังจากเลิกงานกลับถึงบ้าน ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเสพติดการใช้งานอุปกรณ์ดิจิตอล ส่งผลกระทบให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันอดนอนต่อเนื่อง และมักจะใช้กลยุทธ์เพิ่มชั่วโมงการนอนช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อหวังชดเชยการอดนอนในช่วงวันทำงาน
 
แต่ว่า…ร่างกายและจิตใจมนุษย์รับรู้ได้ถึงการอดนอนต่อเนื่องช่วงวันทำงาน และยังคงผลเสียต่อระบบเมตาบอลิสมและระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย แม้จะนอนเพิ่มชดเชยในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม
 
ก่อนหน้างานวิจัยในปี 2562 ฉบับนี้ นักวิจัยยังไม่ทราบชัดเจนว่า การนอนชดเชยวันหยุดจะช่วยแก้ไขความผิดปกติของระบบเมตาบอลิสมและระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกายซึ่งเกิดจากการอดนอนต่อเนื่องได้หรือไม่ Prof. Kenneth P Wright หนึ่งในผู้ทำงานวิจัยฉบับนี้ เป็น Professor of Distinction in the Department of Integrative Physiology and Director of the Sleep and Chronobiology Laboratory at the University of Colorado Boulder เขาเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยด้านการนอนหลับและระบบนาฬิกาชีวภาพมามากกว่า 25 ปีค่ะ

วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัย

วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยนี้จึงสำรวจว่า การนอนหลับชดเชยวันหยุด จะช่วยแก้ไขความผิดปรกติของ การกินตามความต้องการ (Ad libitum Enery Intake) น้ำหนักตัว (Body weight) ความไวต่ออินซูลิน (Insulin Sensitivity) และ จังหวะนาฬิกาชีวภาพ ที่เกิดจากอดนอนต่อเนื่องให้กลับมาเป็นปกติได้หรือไม่
 
งานวิจัยแบ่งผู้เข้ารับการศึกษาซึ่งเป็นผู้ใหญ่สุขภาพดีออกเป็น 3 กลุ่ม จำนวนหญิงและชายเท่ากันในแต่ละกลุ่ม เข้ามาอาศัยอยู่ใน metabolic ward มีระยะเวลาในการศึกษา 9 วัน รายละเอียดมีดังนี้
 
1. กลุ่มควบคุม (Cont) จำนวน 8 คน นอนหลับคืนละ 9 ชั่วโมง
2. กลุ่มศึกษาที่ 1 (SR) จำนวน 14 คน นอนหลับคืนละ 5 ชั่วโมงตลอดระยะเวลา 9 วัน
3. กลุ่มศึกษาที่ 2 (WR) จำนวน 14 คน นอนหลับคืนละ 5 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วันทำงาน และนอนชดเชยเท่าที่ต้องการ (Ad libitum recovery sleep) 2 วัน จากนั้นกลับไปอดนอนคืนละ 5 ชั่วโมงต่ออีก 2 วัน
 
แต่ละกลุ่มมีการวัดปัจจัยต่างๆเพื่อเป็น Baseline ในการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้
ปัจจัยที่วัด
 
1. ชั่วโมงการนอนชดเชยเพิ่มในกลุ่มศึกษาที่ 2 (WR)
2. มีการหน่วงเวลาให้การหลั่งเมลาโทนินช้าลงหรือไม่ (Delayed circadian melatonin phase)
3. พลังงานทั้งหมดที่ได้จากการกินในแต่ละวัน (Total energy intake)
4. พลังงานที่ได้จากการกินสแนคหลังอาหารมื้อเย็น (After dinner snack energy intake)
5. น้ำหนัก (Body weight)
6. ความไวต่ออินซูลินทั่วร่างกายและเนื้อเยื่อจำเพาะ (whole body and tissue specific insulin sensitivity)

ผลลัพธ์ของงานวิจัย

1. การอดนอนทั้งในกลุ่มศึกษาที่ 1 (SR) และ 2 (WR) นำไปสู่การได้พลังงานเกินจากกินสแนคหลังอาหารเย็นถึง 481-507 แคลอรี่ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (Cont) น้ำหนักเกินเฉลี่ย 1.4 กิโลกรัม
 
2. การอดนอนทั้งในกลุ่มศึกษาที่ 1 และ 2 (SR และ WR) นำไปสู่การหน่วงเวลาของการหลั่งเมลาโทนินให้ช้าลง (Delayed circadian melatonin phase)
 
3. การอดนอนในกลุ่มศึกษาที่ 2 (WR) ทำให้ความไวต่ออินซูลินทั่วร่างกาย (Whole body insulin sensitivity) ความไวต่ออินซูลินที่ตับและกล้ามเนื้อ (Hepatic and muscle insulin sensitivity) ลดลง ในขณะที่การอดนอนในกลุ่มศึกษาที่ 1 (SR) ทำให้ความไวต่ออินซูลินทั่วร่างกายลดลง
 
4. กลุ่มศึกษาที่ 2 (WR) เพิ่มเวลาในการนอนชดเชยในช่วงวันหยุด 2 วัน (Ad libitum weekend recovery sleep) เฉลี่ย 1.1 ชั่วโมง
 
5. การเพิ่มเวลานอนชดเชยในช่วงวันหยุด ล้มเหลวในการป้องกันความผิดปกติของระบบเมตาบอลิสมและจังหวะเวลาในระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย จากการอดนอนต่อเนื่อง

เมื่อน้องๆได้ทราบผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการนอนไม่พอจากงานวิจัยฉบับนี้แล้ว จงให้ความสำคัญต่อชั่วโมงการนอนอย่างมีคุณภาพในแต่ละคืน 7-9 ช.ม. พี่ปุ๋มยังจำคำพูดของ Prof.Matthew Walker ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับและผู้เขียนหนังสือดี Why We Sleep ตอนที่พี่สรุป lecture 3 ช.ม.ของเขาให้น้องๆได้อ่านกันได้ว่า “Sleep is NON NEGOTIABLE”

แหล่งข้อมูล: https://www.sciencedirect.com/…/pii/S0960982219300983

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

HEALTH IN TOUCH

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในการเปลี่ยน LIFESTYLE สู่การมีสุขภาพที่ดี และ LIFESPAN ที่ยืนยาว

Copyright 2020 © All rights reserved by healthspans