งานวิจัยล่าสุดในมนุษย์บ่งบอกถึงโมเลกุลสำคัญที่สามารถย้อนอายุกล้ามเนื้อให้กลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีกครั้ง
วารสาร Nature Aging ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตีพิมพ์งานวิจัยสำคัญที่ทำในมนุษย์ ชื่องานวิจัยคือ “Healthy aging and muscle function are positively associated with NAD+ abundance in humans” โดยเป็นการวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยจาก Maastricht University และนักวิจัยจาก Amsterdam University ซึ่งนักวิจัยได้กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของงานวิจัยที่ทำในมนุษย์ ซึ่งยืนยันสิ่งที่นักวิจัยคาดหวังมาก่อน โดยแสดงให้เห็นว่า พบโมเลกุลสำคัญที่เฉพาะเจาะจงตัวหนึ่งในกล้ามเนื้อคนสูงอายุในระดับที่ต่ำลงกว่าในกล้ามเนื้อคนหนุ่มสาว (รอให้พี่ได้งานวิจัยฉบับเต็มมาก่อนนะคะ แล้วจะทำ vdo series สรุปงานวิจัยให้ค่ะ)
ความชรา กับ ระบบการเผาผลาญพลังงาน
อวัยวะเล็กๆในเซลล์ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษากระบวนการชราในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อของมนุษย์ในงานวิจัยนี้คือไมโตคอนเดรีย เนื่องจากมันเป็นเสมือนโรงงานซึ่งเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นโมเลกุลพลังงาน (ATP) เพื่อแจกจ่ายให้เซลล์ใช้ในการทำกิจกรรมสำคัญ
นักวิทยาศาสตร์รู้กันดีว่าการเปลี่ยนแปลงระดับเมตาบอลิสมภายในเซลล์มีอิทธิพลต่อความชรา แต่ก็ต้องการจะทราบว่ามีโมเลกุลสำคัญใดบ้างที่สร้างความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและกล้ามเนื้อที่ชรา
และงานวิจัยฉบับนี้ก็ได้ค้นพบโมเลกุลสำคัญดังกล่าว ที่เป็นตัวบ่งชี้ความชราของกล้ามเนื้อ โมเลกุลสำคัญที่ว่านี้ก็คือ Nicotinamide Adenine Dinucleotide (NAD+)
มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองแสดงว่า NAD+ มีบทบาทสำคัญในการมีอายุขัยยืนยาว แต่ความเกี่ยวพัน (correlation) ของ NAD+ กับความชราในกล้ามเนื้อมนุษย์นั้นยังไม่เคยมีงานวิจัยที่แสดงผลลัพธ์มาก่อน นักวิจัยพอจะทราบมาระยะหนึ่งแล้วว่าไมโตคอนเดรียที่ทำหน้าที่ถดถอยลงนั้น ส่งผลต่อกระบวนการแก่ชรา Rickelt Houtkooper หนึ่งในนักวิจัยหลักได้กล่าวว่า งานวิจัยฉบับล่าสุดนี้แสดงให้เห็นรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิสมภายในเซลล์กล้ามเนื้อภายใต้กระบวนการชราในมนุษย์มากขึ้น
คนสูงอายุที่มีไลฟ์สไตล์แอคทีฟมีระดับ NAD+ในกล้ามเนื้อใกล้เคียงกับระดับ NAD+ ในกล้ามเนื้อของคนหนุ่มสาว
งานวิจัยฉบับนี้พบว่าคนสูงอายุที่มีไลฟ์สไตล์แอคทีฟมากๆนั้น มีระดับ NAD+ในกล้ามเนื้อใกล้เคียงกับระดับ NAD+ ในกล้ามเนื้อของคนหนุ่มสาวเลยทีเดียว แต่ในคนสูงอายุที่ไม่แอคทีฟ นั่งทั้งวัน มีระดับ NAD+ในกล้ามเนื้อต่ำลงมาก
ข่าวดีคือ ถ้าคนสูงอายุที่ไม่แอคทีฟนั้นกลับมามีกิจกรรมทางกายอย่างเข้มข้น ก็สามารถเพิ่มระดับ NAD+ให้กลับมาใกล้เคียงกับกล้ามเนื้อของคนหนุ่มสาวได้เช่นกัน