ภาวะอักเสบภายในร่างกายได้กลายมาเป็นหัวข้อบทความสุขภาพที่เขียนถึงกันอย่างกว้างขวางใน 4-5 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับการวางตลาดของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่ม ที่อ้างอิงหลักฐานงานวิจัยว่าช่วยลดภาวะอักเสบภายในร่างกายได้ นอกจากนั้นยังมีหนังสือที่ว่าด้วยเมนูอาหารเฉพาะสำหรับต้านภาวะอักเสบอีกจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน
บทความนี้จะอธิบายความเข้าใจผิดสำคัญเกี่ยวกับภาวะอักเสบ 5 ประการ และได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทำไมความเข้าใจร่างกายว่าตอบสนองหลังมื้ออาหารอย่างไร จะสามารถช่วยให้แต่ละคนต่อสู้ภาวะอักเสบภายในร่างกายได้ผ่านรูปแบบโภชนาการส่วนบุคคล
ความเข้าใจผิดข้อที่ 1 : ภาวะอักเสบทุกประเภทไม่ดีต่อร่างกาย
ไม่จริงเลย เพราะภาวะอักเสบเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางชีวะวิทยาที่เป็นปกติของร่างกาย มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเยียวยาร่างกาย มีภาวะอักเสบหลายประเภทซึ่งเกิดจากตัวกระตุ้นที่แตกต่างกัน
ประเภทแรกคือ ภาวะอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เพื่อตอบสนองการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บ โดยปกติจะหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือเป็นวัน ตัวอย่างเช่น มีดบาดมือและติดเชื้อ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บก็จะมีอาการร้อนบวมแดง ภาวะอักเสบแบบเฉียบพลันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาเนื้อเยื่อ
ภาวะอักเสบประเภทที่ 2 เรียกว่า ภาวะอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation) สามารถคงอยู่ยาวนานได้หลายเดือนหรือหลายปี ภาวะอักเสบประเภทนี้เกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพที่ถดถอยหลายประการ เช่น มะเร็ง หัวใจ เบาหวานประเภทที่ 2 สมองเสื่อม เป็นต้น
ความเข้าใจผิดข้อที่ 2 : การบริโภคน้ำตาลทำให้เกิดภาวะอักเสบในร่างกาย
เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบร่วมอยู่ด้วย มันก็จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เดินทางไปทั่วร่างกายเพื่อให้เซลล์นำไปใช้สร้างพลังงาน
ข้อมูลที่ประชาชนรับทราบโดยทั่วไปว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติภายหลังมื้ออาหาร หรือใช้ระยะเวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับปกติ เกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบเรื้อรังนั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง
แต่สิ่งที่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมคือ การตอบสนองของร่างกายต่ออาหารเดียวกัน ซึ่งปรากฎเป็นระดับน้ำตาลในเลือด มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในแฝดแท้ซึ่งมีพันธุกรรมเหมือนกันก็ตาม ซึ่งข้อมูลนี้ได้จากงานวิจัยชื่อ “Human postprandial responses to food and potential for precision nutrition”ในโครงการงานวิจัย PREDICT -1 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พ.ศ.2563 (พี่วางลิงค์ไว้ให้ผู้สนใจไว้ให้แล้วค่ะ)
ดังนั้น พาสต้าจานโปรดอาจจะกระตุ้นร่างกายให้ตอบสนองผ่านระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติในคนๆหนึ่ง จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะอักเสบ และก็อาจจะเป็นอาหารค่ำที่แสนอร่อย ให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารปรกติ ไม่เกิดภาวะอักเสบ เหมาะสมต่อสุขภาพของอีกคนหนึ่งก็ได้เช่นกัน
ความเข้าใจผิดข้อที่ 3 : ไขมันไม่ทำให้เกิดภาวะอักเสบภายในร่างกาย
เรามุ่งความสนใจไปที่คาร์โบไฮเดรต ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติก่อให้เกิดภาวะอักเสบภายในร่างกายกันเป็นหลัก ในขณะที่ความเป็นจริง อาหารที่เรารับประทานมีสารอาหารมากกว่าแค่คาร์โบไฮเดรต เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต ไขมันจะถูกย่อย ดูดซึม ถูกนำพาผ่านท่อน้ำเหลืองจนเดินทางเข้าสู่หัวใจต่อไปในกระแสเลือด เพื่อให้เซลล์ทั่วร่างกายนำไปใช้สร้างพลังงาน
ในอดีต ยังไม่มีความก้าวหน้าในการหาตัวบ่งชี้ภาวะอักเสบที่แม่นยำในกระแสเลือดภายหลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ
เป็นครั้งแรกในงานวิจัยชื่อ “Meal-induced inflammation: postprandial insights from the Personalised REsponses to DIetary Composition Trial (PREDICT) study in 1000 participants” ในโครงการงานวิจัย PREDICT-2 ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.พ.ศ.2564 ซึ่งวัดตัวบ่งชี้ใหม่ชื่อ Glycoprotein Acetylation (GlycA) ซึ่งสะท้อนภาวะอักเสบจากการมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงผิดปกติหลังมื้ออาหารได้อย่างแม่นยำ เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต แต่ละคนตอบสนองปรากฎเป็นภาวะอักเสบต่อปริมาณไขมันที่บริโภคจากอาหารเดียวกันแตกต่างกันเป็นอย่างมาก งานวิจัยนี้ศึกษาในแฝดแท้ค่ะ
และที่น่าตื่นเต้นก็คือ เป็นครั้งแรกในงานวิจัยที่พบว่า “ระดับไขมันในเลือดที่สูงผิดปกติ (Postprandial hyperlipemia) หลังมื้ออาหาร ก่อให้เกิดภาวะอักเสบภายในร่างกายได้มากกว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติ (Postprandial hyperglycemia)”
บ่งบอกว่า ภาวะอักเสบภายในร่างกาย ไม่ได้เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปรกติเพียงอย่างเดียว ระดับไขมันในเลือดสูงผิดปรกติ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นการลดภาวะอักเสบภายในร่างกายไม่ได้ง่ายแค่เพียงใช้โภชนาการคาร์โบไฮเดรตต่ำแต่เพียงเท่านั้น
หมายเหตุ : คอยติดตามไลฟ์ สรุปงานวิจัย 2 ฉบับนี้ค่ะ
ความเข้าใจผิดข้อที่ 4 : การรับประทานอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เจาะจงไปที่สารอาหารสำคัญบางชนิด สามารถลดภาวะอักเสบภายในร่างกายได้
ขมิ้นชัน ขิง กระเทียม ชาเขียว ถูกจัดประเภทให้เป็นอาหารต้านภาวะอักเสบ แต่มีหลักฐานงานวิจัยสนับสนุนจำนวนมากพออย่างนั้นหรือ
แม้ว่า ขมิ้นชัน กระเทียม ขิง เป็นเครื่องเทศที่ใช้ในยาแผนโบราณมาเป็นเวลานาน ส่วนชาเขียวก็ถือเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมาเป็นเวลานานเช่นกัน ในพืชเหล่านี้มีสารประกอบกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านภาวะอักเสบได้ก็ตาม
แต่ขมิ้นชันก็ดูดซึมได้ยากจากทางเดินอาหาร นั่นหมายความว่าต้องรับประทานในปริมาณมากเพื่อหวังผลต้านอักเสบ ในขณะที่มีรายงานเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขมิ้นชันก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับ เมื่อรับประทานในปริมาณมาก
ส่วนขิง กระเทียม ชาเขียว ก็มีทั้งงานวิจัยที่สนับสนุนและไม่เห็นผลในการต้านภาวะอักเสบภายในร่างกาย
ดังนั้นแทนที่จะเลือกมุ่งเน้นบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง งานวิจัยสนับสนุนให้บุคคลบริโภคอาหารจากธรรมชาติ ที่ประกอบไปด้วยพืชหลากหลายเป็นหลัก ซึ่งพืชแต่ละชนิดเต็มไปด้วยโพลีฟีนอล ใยอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าในการได้รับโพลีฟีนอลธรรมชาติในปริมาณรวมที่เหมาะสมในการต่อสู้กับภาวะอักเสบภายในร่างกาย
อาหารธรรมชาติที่ประกอบด้วยพืชหลากหลายเป็นหลัก มีความสำคัญต่อความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์เช่นกัน มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัย PREDICT ว่า ความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารช่วยลดภาวะอักเสบภายในร่างกาย
ความเข้าใจผิดข้อที่ 5 : รูปแบบโภชนาการเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอักเสบภายในร่างกายของทุกคนเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน มนุษย์แต่ละคนมีรูปแบบการตอบสนองของร่างกายต่ออาหารที่เฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถทำนายได้จากพันธุกรรม เพราะแม้แต่แฝดแท้ที่มีพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ ก็ยังตอบสนองต่ออาหารเดียวกันได้แตกต่างกัน
นอกจากนั้นปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วยคือ “บริบทการใช้ชีวิต” ของแต่ละคน เพราะนอกเหนือจากอาหารที่เรารับประทานแล้ว ยังมีการใช้ชีวิตที่สามารถส่งผลต่อภาวะอักเสบภายในร่างกายได้ด้วย เช่น การอดนอน ความเครียดเรื้อรัง ขาดกิจกรรมทางกาย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์