ทั้ง Prof. Rob Knight และ Prof. Tim Spector ได้ยืนยันว่า ความหลากหลายของใยอาหารจากพืชที่เรารับประทานในแต่ละสัปดาห์ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยเดียวต่อความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ซึ่งความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์
บทความนี้ (1) ยืนยันอีกครั้งว่าคุณภาพของอาหารที่เรารับประทาน มีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อสัดส่วน ความหลากหลาย และการทำงานของเหล่าประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ซึ่งก็จะส่งผลต่อการลดความเสี่ยงของการพัฒนาโรคกลุ่มอาการผิดปกติของระบบเมตาบอลิสมได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวานประเภทที่ 2 หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
งานวิจัย (2) ชื่อ “Microbiome connections with host metabolism and habitual diet from 1,098 deeply phenotyped individuals” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Naturemedicine เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 เป็นการร่วมมือกันระหว่างหลายสถาบันทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
เป้าหมายของงานวิจัย
เป้าหมายของงานวิจัยนี้คือเพื่อสังเกตการตอบสนองของระบบเมตาบอลิสมในผู้เข้าร่วมงานวิจัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จำนวนมากกว่า 1,000 คน ภายหลังจากการบริโภคอาหารที่แตกต่าง และมีการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของประชากรจุลินทรีย์ที่ตอบสนองต่ออาหารนั้น มีการตรวจวัดพารามิเตอร์อื่นเช่น ระดับน้ำตาลในเลือดระดับคอเลสเตอรอล กิจกรรมของฮอร์โมน และตัวบ่งชี้ภาวะอักเสบในร่างกาย นอกจากนั้นยังวัดการนอนหลับและระดับกิจกรรมทางกายอีกด้วย
ผลลัพธ์ของงานวิจัย
ผลลัพธ์แสดงให้เห็น เป็นครั้งแรกว่าคุณภาพของอาหารสามารถส่งผลกระทบต่อสัดส่วนและการทำงานของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารได้ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์
นักวิจัยพบว่าอาหารที่ประกอบด้วยความหลากหลายที่มาจากอาหารธรรมชาติไม่แปรรูปได้จากพืชและสัตว์ มีความเกี่ยวพันกับประชากรจุลินทรีย์ที่ส่งเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพ
ในทางกลับกัน อาหารผ่านกระบวนการที่เติมน้ำตาลและเกลือเพิ่ม มีความเชื่อมโยงกับประชากรจุลินทรีย์ที่เกี่ยวพันกับโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และเบาหวานประเภทที่ 2
นักวิจัยยังพบอีกว่า พันธุกรรมมีบทบาทน้อยกว่าคุณภาพอาหารในการสร้างความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร

ข้อเสนอของงานวิจัย
งานวิจัยเสนอแนะเราว่า การบริโภคอาหารธรรมชาติจากพืชที่มีความหนาแน่นของสารอาหารสูงและจากสัตว์ (เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว โยเกิร์ตไขมันเต็ม อาหารทะเล ปลา และไข่ เป็นต้น) ส่งเสริมประชากรจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดไขมันสายสั้นอย่าง butyrate ซึ่งเป็น postbiotic ที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น ส่งเสริมการลดลงของไขมันที่เกาะรอบอวัยวะภายใน (visceral fat) ปรับปรุงระดับน้ำตาลในเลือด ลดการอักเสบ ลดระดับคอเลสเตอรอล
งานวิจัยฉบับนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (3) ชื่อ “Mediterranean diet, gut microbiota and health: when age and calories do not add up” ตีพิมพ์ในวารสาร gut.bmj journals Vol 69 issue 7 ซึ่งศึกษาอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนในผู้สูงอายุ ซึ่งงานวิจัยนั้นก็แสดงผลเช่นเดียวกันว่า คุณภาพของอาหารมีส่วนสำคัญต่อความมีสุขภาพดีของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ