งานวิจัยแบบ Ramdomized Controlled Trial ล่าสุด พบว่า แค่นอนเพิ่มคืนละ 1.2 ช.ม. ช่วยลดการกินได้ถึง 270 แคลอรี่ต่อวัน
มีหลักฐานจากงานวิจัยจำนวนมากที่ให้ข้อมูลว่า การนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำ ทำให้สุขภาพโดยรวมเลวร้ายลง และแนะนำชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมไว้ที่ 7-9 ชั่วโมง
เป็นที่รับรู้กันว่าการนอนหลับไม่เพียงพอในแต่ละคืน คือปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน น้ำหนักเกิน จาก Kevin Hall Dynamic Energy Prediction Model แค่กินเกินวันละ 100 แคลอรี่ก็สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวได้ 4.5 กิโลภายในระยะเวลาสามปี กลไกการจำกัดระยะเวลาการนอนที่เป็นไปได้ ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณการกินคือ
1. เพิ่มความหิว
2. เปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร
3. เปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินที่ให้รางวัล
อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาแบบ Randomized Controlled Trial ภายใต้การใช้ชีวิตปกติที่บ้าน (Free Living Environment) ว่า การเพิ่มจำนวนชั่วโมงการนอนในแต่ละคืน จะสามารถเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความอ้วน หรือลดน้ำหนักได้หรือไม่

มีงานวิจัยที่ทำในระยะสั้นหลายฉบับใน metabolic wards (ผู้เข้าร่วมงานวิจัยต้องเข้ามาอยู่ในวอร์ดเป็นระยะเวลาหนึ่ง) ที่พบว่า การจำกัดชั่วโมงการนอนในคนสุขภาพดีนั้น ส่งผลเสียโดยมีการเพิ่มปริมาณการกินเฉลี่ยวันละ 250 ถึง 350 แคลอรี โดยไม่พบการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในแต่ละวัน (Energy Expenditure) ซึ่งทำให้เกิด Positive Energy Balance แต่งานวิจัยเหล่านี้ซึ่งทำใน metabolic ward ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนงานวิจัยที่สะท้อนการใช้ชีวิตปรกติ (Free Living Environment)
จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาและให้คำตอบแน่ชัดว่า ในทางกลับกัน ถ้าเราเพิ่มชั่วโมงการนอนในแต่ละคืน จะส่งผลต่อการกิน การใช้พลังงาน รวมถึงน้ำหนักตัวอย่างไร ภายใต้การใช้ชีวิตปกติ
ดังนั้นงานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Intern Med. เมื่อเดือนเมษายน 2565 ถือเป็นงานวิจัยแบบ Randomized Controlled Trial ฉบับแรกที่ดำเนินการศึกษาภายใต้การใช้ชีวิตปรกติ (Free Living Environment) ซึ่งแสดงหลักฐานถึงประโยชน์ของการเพิ่มระยะเวลาในการนอนในแต่ละคืนต่อ Energy balance (Energy Intake, Energy Expenditure) ในคนที่น้ำหนักเกิน โดยใช้วิธีวัดผลลัพธ์เชิงปริมาณ (Objective measurement) ทั้งหมด วัดอะไรบ้าง มีดังนี้
1. ปริมาณการกิน (Energy Intake) ใช้ Kevin Hall Dynamic Energy Prediction Model คำนวณจาก TEE และ น้ำหนักที่เปลี่ยนไปตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์
2. ปริมาณพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน (Total Energy Expenditure) วัดโดยใช้ Doubly-Labeled Water
3. น้ำหนักที่เปลี่ยนไป ใช้เครื่องชั่งน้ำหนักพิเศษที่ผู้ชั่งมองไม่เห็นตัวเลขน้ำหนัก แต่จะส่งตัวเลขน้ำหนักไปยังนักวิจัย
4. สัดส่วนองค์ประกอบร่างกาย (Body Composition) ใช้ Dual Energy X-ray Absorptimetry (Dexa Scan)
5. ระยะเวลาการนอนในแต่ละคืน วัดโดยใช้ Actigraphy ใส่ข้อมือ

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ
ศึกษาผลในเชิงปริมาณของการเพิ่มเวลานอนต่อ Energy Intake, Energy Expenditure และน้ำหนักตัว ภายใต้การใช้ชีวิตจริงที่บ้าน
วิธีวิจัย
1. ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 80 คน ทั้งหญิงและชาย แบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุม 40 คน กลุ่มที่เพิ่มเวลาการนอน 40 คน อายุเฉลี่ย 21-40 ปี ดัชนีมวลกาย 25-29.9
2. ทั้งสองกลุ่ม มีพฤติกรรมที่เป็นนิสัยในเรื่องระยะเวลาการนอนใน 6 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่น้อยกว่า 6.5 ช.ม.ต่อคืน
3. หลังจากปรับ baseline 2 สัปดาห์ ก็ทำการ randommized ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม 40 คน และกลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษาเรื่องการเพิ่มระยะเวลาการนอนในแต่ละคืน 40 คน และอยู่ในช่วงการศึกษาต่ออีก 2 สัปดาห์
4. ทุกคนใช้ชีวิตตามปรกติที่บ้าน ไม่มีการให้คำแนะนำด้านโภชนาการหรือการออกกำลังกายแต่อย่างใด
ผลลัพธ์
1. กลุ่มควบคุม ที่มีพฤติกรรมการนอนน้อยกว่า 6.5 ชั่วโมงต่อคืน มีการกินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 114.9 แคลอรี่ต่อวัน และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ 0.34 กิโลกรัม
2. กลุ่มศึกษาที่เพิ่มเวลาการนอนจาก baseline 1.2 ชั่วโมง (จาก 6.5 ชั่วโมงเป็น 7.8 ชั่วโมงต่อคืน) ลดปริมาณการกินลง 270 แคลอรี่ต่อวัน และมีน้ำหนักลดลง 0.87 กิโลกรัม
3. ไม่มีความแตกต่างของ Energy Expenditure ระหว่างทั้งสองกลุ่ม
4. มีความแตกต่างของ Energy Intake และน้ำหนักระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
5. ผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมดเหมือนกันทั้งในหญิงและชาย
สรุป
งานวิจัยแบบ Randomized Controlled Trial เป็นครั้งแรกฉบับนี้พบว่า การเพิ่มระยะเวลาการนอนในแต่ละคืน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆสี่สัปดาห์ สามารถลด Energy Intake และสร้าง Negative Energy Balance ภายใต้งานวิจัยที่ทำในชีวิตจริง (Real Life Environment) ในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินและนอนน้อยกว่า 6.5 ชั่วโมงต่อคืน