อาหารหมักด้วยจุลินทรีย์เพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร และลด

อาหารหมักด้วยจุลินทรีย์เพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร และลดภาวะอักเสบ

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email
พี่ปุ๋มติดตามนักวิจัยอาวุโสด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกัน 2 ท่าน จาก Stanford School of Medicine ซึ่งเป็นสามี-ภรรยากันคือ Assc.Prof.Justin และ Assc.Prof.Erica Sonnenburg จากการที่พี่อ่านหนังสือดีชื่อ The Good Gut ที่ทั้งสองคนเขียนในปี 2558 จากนั้นพี่ก็ตามฟังเล็กเชอร์ของ Erica และ Justin มาตลอด
 
ทั้งสองคน ทำงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ เพื่อดูอิทธิพลของอาหารที่มีต่อประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร งานวิจัยฉบับก่อนหน้าของเขาแสดงให้เห็นว่า อาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์ (Fermented foods) มีประโยชน์ต่อความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารมากกว่าการให้จุลินทรีย์สุขภาพ (Probiotics) เดี่ยวๆ แต่พี่ปุ๋มก็ยังอยากรองานวิจัยในมนุษย์ที่มีลักษณะเป็น randomized trial เปรียบเทียบอิทธิพลของการแทรกแซงสุขภาพด้วยโภชนาการ ระหว่างกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีใยอาหารสูง กับ อาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์ ว่าจะแตกต่างกันหรือไม่ และวันนั้นก็มาถึงค่ะ
 
งานวิจัยล่าสุดชื่อ “Gut-microbiota-targeted diets modulate human immune status” ตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 นี้เอง ให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งของอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์ต่อการเพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร และลดภาวะอักเสบภายในร่างกาย เรามาดูรายละเอียดของงานวิจัยนี้กันค่ะ (ใครอยากเช่างานวิจัยฉบับเต็มนี้มาอ่าน พี่วางลิงค์ไว้ให้แล้วนะคะ ราคา $3.99 ต่อการอ่าน 6 ช.ม.)

ลักษณะงานวิจัย

1. งานวิจัยมีลักษณะเป็น Randomized Prospective Trial ทำการศึกษาในผู้ที่มีสุขภาพดี 36 คนซึ่งจะได้รับการสุ่มให้รับประทานอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์หรืออาหารที่มีปริมาณใยอาหารสูงกลุ่มละ 18 คนไปเป็นเวลา 17 สัปดาห์ (แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงก่อนเข้ารับโภชนาการ 3 สัปดาห์ ช่วงที่อยู่ในงานวิจัย 10 สัปดาห์ และช่วงหลังจากงานวิจัย 4 สัปดาห์ ซึ่งทั้งช่วงก่อน 3 สัปดาห์และช่วงหลังงานวิจัย 4 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้ง 36 คนบริโภคอาหารอย่างที่ตัวเองปฏิบัติเป็นกิจวัตร)
 
2. อาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์เช่นโยเกิร์ต กิมจิ คีเฟอร์ คอตเตจชีส คอมบูชา ซาวเคร้าท์ เป็นต้น
 
3. อาหารที่มีใยอาหารสูงได้แก่ ถั่วมีฝัก เมล็ดพืช ธัญพืช ผัก ผลไม้
 
4. มีการเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระจากผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้ง 3 ช่วงเวลาในข้อ 1 เพื่อตรวจสอบ Immune System Profiling อย่างกว้างขวาง Cytokine Response Score, โปรตีนที่บ่งชี้ภาวะอักเสบ 19 ตัว การเปลี่ยนแปลงความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ผ่าน Genome Sequencing เอ็นไซม์ที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ที่บริโภคใยอาหาร (CAZymes) เป็นต้น

ผลลัพธ์งานวิจัย

1. Assc.Prof.Justin กล่าวว่านี่เป็นหนึ่งในงานวิจัยแรกๆที่มีในลักษณะเป็น randomized trial ที่แสดงให้เห็นว่า แค่เปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานในแต่ละวันโดยเพิ่มอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์เข้าไปด้วย ก็สามารถเปลี่ยนแปลงความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารได้
 
2. พบว่าในกลุ่มที่ได้รับอาหารหมักด้วยจุลินทรีย์ทั้ง 18 คน เซลล์ภูมิคุ้มกัน 4 ประเภทถูกกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีใยอาหารสูง ระดับโปรตีนที่บ่งบอกภาวะอักเสบในกระแสเลือด 19 ชนิดก็ลดลงด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ IL-6 ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับภาวะแพ้ภูมิตัวเอง เบาหวานประเภทที่สอง และความเครียดเรื้อรัง (ว้าวเลยค่ะ)
 
3. Prof.Christopher Gardner หนึ่งในสามของผู้วิจัยร่วมอาวุโสของงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวว่างานวิจัยนี้สนับสนุนว่า อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิคุ้มกันได้จริงๆ
 
4. ในทางตรงกันข้ามกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีใยอาหารสูงทั้ง 18 คน พบว่ามีเฉพาะจุลินทรีย์ที่ย่อยใยอาหารเท่านั้นที่มีปริมาณสูงขึ้นชัดเจน แต่ความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ยังคงเหมือนเดิม และถึงแม้ว่าโปรตีนที่บ่งชี้ภาวะอักเสบทั้ง 19 ตัว (Cytokine Response Score) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในผู้เข้าร่วมงานวิจัยทุกคน แต่มีการเปลี่ยนแปลงในโปรตีนตัวบ่งชี้ 3 ชนิดที่บ่งถึงการลดลงของภาวะอักเสบในเฉพาะบางคนเท่านั้น บ่งบอก personalized response
 
5. Assc.Prof.Erica กล่าวว่า เป็นไปได้ที่การเพิ่มปริมาณใยอาหารบริโภคเพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลาสั้นเกินไป (10 สัปดาห์) อาจไม่เพียงพอต่อการเพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ในมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมที่รับประทานอาหารที่มีใยอาหารต่ำเป็นเวลานาน
 

สรุป

Prof.Christopher กล่าวปิดท้ายว่า เรายังต้องทำงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ต่อไปว่า การแทรกแซงสุขภาพด้วยโภชนาการที่มุ่งประโยชน์ต่อประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร จะสามารถเป็นวิธีที่ใช้ต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารของโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบเรื้อรังได้ แผนงานวิจัยต่อไปของเราคือ
 
1. สำรวจความเป็นไปได้ว่าการบริโภคอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์ร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูงจะให้ฤทธิ์เสริมกันหรือไม่ต่อการเพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร
 
2. สำรวจว่าการบริโภคอาหารหมักด้วยจุลินทรีย์ จะช่วยลดภาวะอักเสบหรือปรับปรุงตัวบ่งชี้ความมีสุขภาพดีอื่นๆในกลุ่มคนที่หลากหลายกว่านี้ เช่นในคนที่มีโรคของระบบภูมิคุ้มกัน โรคที่เกี่ยวกับระบบเมตาบอลิสม ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุหรือไม่

ในบทสุดท้ายของหนังสือ The Good Gut ทั้ง Erica และ Justin Sonnenburg กล่าวไว้น่าคิดว่า “Your Genome is not YOUR DESTINY” พันธุกรรมไม่ได้เป็นตัวกำหนดความมีสุขภาพดีของเราทั้ง 100% มนุษย์สามารถกำหนดชะตาชีวิตความมีสุขภาพกายใจที่ดีได้ด้วยการ “Manage INTERNAL FERMENTATION” ผ่านประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ด้วยโภชนาการและการใช้ชีวิต

ขอความมีสุขภาพกายใจที่ดีจงสถิตเป็นทรัพย์สินที่มั่งคั่งสำหรับทุกคน

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

HEALTH IN TOUCH

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในการเปลี่ยน LIFESTYLE สู่การมีสุขภาพที่ดี และ LIFESPAN ที่ยืนยาว

Copyright 2020 © All rights reserved by healthspans