งานวิจัยแบบ Systematic review and meta-analysis 3 ฉบับ ให้ผลลัพธ์ว่า “เพิ่มการเดินในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเดินช้าหรือเร็วก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้”
ถึงแม้ว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาเพื่อสงวนการใช้พลังงาน (ย้อนดูไลฟ์สรุปหนังสือ exercised โดย Prof. Daniel E. Lieberman กันได้ค่ะ) แต่การมีกิจกรรมทางกายระหว่างวันมีความจำเป็นต่อสุขภาพที่ดีตลอดอายุขัยของมนุษย์ มนุษย์ถูกวิวัฒนาการมาให้เป็นนักเดินทน
แต่การใช้ชีวิตยุคปัจจุบันที่ความมั่งคั่งเกิดจากการใช้สมองมากกว่าใช้แรงกาย ทำให้มนุษย์ลดกิจกรรมการเดินระหว่างวันไปเป็นอย่างมาก มนุษย์ประดิษฐ์เก้าอี้เพื่อนั่งเกือบทั้งวัน (uninterrupted sitting) และประดิษฐ์การออกกำลังกายขึ้นมา เพื่อทำหลังจากนั่งมาทั้งวันจากการทำงาน
ถึงแม้ว่าจะมีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้มนุษย์ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาทีก็ตาม จากงานวิจัยของ Prof. James Levine ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Non Exercise Activity Thermogenesis (NEAT) ผู้คนทั้งโลกออกกำลังกายเฉลี่ยวันละไม่ถึง 100 แคลอรี่ คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่าหยุดทำนะคะ แต่คนที่ทำได้ยาก เราจะมีวิธีมีกิจกรรมทางกายได้สม่ำเสมอแล้วยังคงมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างไร
ในเมื่อเรามีวิวัฒนาการมาเป็นนักเดินทน ก็ใช้การเดินค่ะ คำตอบมาจากงานวิจัยแบบ systematic review and meta-analysis 3 ฉบับ ในปี 2564-2565 ที่ดูจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันว่ามีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality risk) อย่างไร (พี่ปุ๋มวางรูปกราฟและลิงค์งานวิจัยฉบับเต็มให้เรียบร้อยนะคะ)
แค่วางแผนการเดินในแต่ละวัน...เช่น
1. จอดรถให้ไกลจากที่ทำงาน
2. วางแผนยืนพร้อมเคลื่อนไหวร่างกายในการประชุม
3. กลางวันเดินออกไปกินอาหารที่ไกลจากออฟฟิศ
4. ตั้งเวลาให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ออกเดินรอบออฟฟิศทุก 1 ชั่วโมง
5. เดินในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของใช้ของกินเข้าบ้าน (พี่ปุ๋มใช้ข้อนี้บ่อยมาก เพราะเพลินกว่าเดินบน tread mill โพสต์นี้เสร็จ กำลังจะออกไปเดินห้างค่ะ
6. หา buddy ในออฟฟิศ ตั้งเป้าหมายพากันเดิน
ถ้าดูจากกราฟงานวิจัยทั้ง 3 ฉบับแค่เริ่มเดินวันละประมาณ 3,000-4,000 ก้าว ก็เริ่มลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ประมาณ 20% แล้ว จำนวนก้าวเดินที่เพิ่มขึ้น หมายถึงการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากสาเหตุทั้งหมดเพิ่มขึ้น น้องๆเลือกตามความเหมาะสม เป้าหมายสุขภาพของตัวเองได้ค่ะ ทั้งหมดอยู่ที่การวางแผนในการเดินล่วงหน้าในแต่ละวัน
ที่สำคัญ จากงานวิจัยทั้ง 3 ฉบับนี้ ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากสาเหตุทั้งหมดนั้น (มี 1 ฉบับที่พบว่า ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย) ไม่เกี่ยวข้องกับความเร็วหรือความช้าในการเดินค่ะ (คนน้ำหนักเกิน คนอ้วน คนเจ็บเข่า ดีใจแน่ๆ)