งานวิจัยชี้ ใส่หูฟังเปิดเสียงดัง ประสาทหูจะพังก่อนวัย

งานวิจัยชี้ ใส่หูฟังเปิดเสียงดัง ประสาทหูจะพังก่อนวัย

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

ใส่หูฟัง เพื่อความเพลิดเพลินส่วนตัว แต่เปิดเสียงดังต่อเนื่องวันละหลายชั่วโมงคืออันตรายต่อความสามารถในการได้ยิน

หูฟังคือหนึ่งในอุปกรณ์ยอดนิยมที่ใช้กับสมาร์ทโฟนของผู้คนในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นแบบสายที่แถมมากับมือถือ หรือแบบบลูธูท ทั้งแบบครอบหู เอียร์พอด หรือ เอียร์บัด ไม่ว่าจะแบบไหนๆก็ตาม เราจะเห็นผู้คนมากมายที่เดินบนท้องถนน บนรถไฟฟ้า หรือแม้แต่กำลังออกกำลังกาย สร้างความบรรเทิงส่วนตัวด้วยการฟังเพลง พอดแคสต์ หรือยูทูบ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 

แต่คำถามสำคัญก็คือความบันเทิงส่วนตัวเหล่านี้มันจะมีผลต่อระบบประสาทการรับเสียงของเราในระยะยาวอย่างไร?

งานวิจัยเร็วๆ นี้พบว่า การใช้หูฟังด้วยระดับเสียงที่ดังและต่อเนื่องจะทำให้เกิดการสูญเสียความสามารถการได้ยินในอนาคต 

เด็กและคนหนุ่มสาวที่ใช้หูฟังเสียงดังเกินมาตรฐานจะมีปัญหาการสูญเสียการได้ยินก่อนวัยอันควร

ความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงกับ เด็ก วัยรุ่น และ คนหนุ่มสาว ถ้าพวกเขาเหล่านั้น เปิดเสียงจากหูฟังดังเกินมาตรฐานที่มีการกำหนดจาก สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ที่ 70 เดซิเบล

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า สัดส่วนประมาณ 50% ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 12-35 ปี มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการได้ยินจากการที่เปิดเสียงจากหูฟังดังเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน

Dr.Daniel Fink คณะกรรมการบริหารของ the Quiet Coalition ซึ่งรณรงค์เกี่ยวกับการกำจัดมลภาวะทางเสียง กล่าวว่า คนโดยทั่วไปเข้าใจผิดว่าการสูญเสียความสามารถในการได้ยินเกิดจากความเสื่อมของวัยที่สูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการได้รับมลภาวะทางเสียงอย่างต่อเนื่องต่างหาก

เขายังเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าการเข้าใจผิดดังกล่าวคล้ายกับที่คนเชื่อว่าคนเราเกิดรอยเหี่ยวย่นจากการที่มีอายุมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการทำลายของรังสี UV ในแสงแดด เขาสรุปว่ามนุษย์เราสามารถที่จะมีความสามารถในการได้ยินอย่างดีจนเข้าสู่วัยชรา ถ้าเราไม่ได้รับมลภาวะทางเสียงเกินไป อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในยุคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

Dr.Fink และ Jan Mayes นักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) ได้ทำการรวบรวมเอกสาร บทความ งานวิจัย และได้ข้อสรุปความเชื่อมโยงระหว่างการสูญเสียความสามารถในการได้ยินกับคนที่ใช้อุปกรณ์หูฟังทุกชนิด โดยเฉพาะคนที่ยังมีอายุน้อยๆ คนเหล่านี้จะเริ่มสูญเสียการได้ยินในช่วงกลางของอายุ 40 ปี โดยเทียบได้กับความสามารถในการได้ยินของคนชราอายุถึง 70 และ 80 ปีเลยทีเดียว

การสูญเสียความสามารถในการได้ยินนำมาสู่ปัญหาความจำเสื่อม

ความสามารถในการได้ยินที่สูญเสียไปก่อนวัยอันควร ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเพียงอย่างเดียว งานศึกษาชื่อ 2011 Study ได้ทำการศึกษาคนที่มีปัญหาในการได้ยิน พบว่าคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคความจำเสื่อมในระดับต่างๆดังนี้

  • คนที่มีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการได้ยิน ในระดับน้อย จะมีความเสี่ยงและพัฒนาไปสู่โรคความจำเสื่อมมากกว่าคนปรกติ 2 เท่าตัว
  • คนที่มีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการได้ยิน ในระดับกลาง จะมีความเสี่ยงและพัฒนาไปสู่โรคความจำเสื่อมมากกว่าคนปรกติ 3 เท่าตัว
  • คนที่มีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการได้ยิน ในระดับสูง จะมีความเสี่ยงและพัฒนาไปสู่โรคความจำเสื่อมมากกว่าคนปรกติ 5 เท่าตัว

Mary L. Carson นักโสตสัมผัสวิทยาอีกท่าน ชี้ว่างานวิจัยยังแสดงว่าคนที่มีปัญหาการได้ยินและไม่ได้รับการดูแลรักษา จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมสูงขึ้นอีก เธอกล่าวว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น การป้องกันสำคัญมากกว่าการรักษา เธอบอกว่าการเริ่มสร้างสุขนิสัยในการรับเสียงที่ดีคือการลงทุนกับสุขภาพในระยะยาว การป้องกันการฟังไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการได้ยินที่เสียไปเท่านั้น แต่ยังป้องกันปัญหาความจำเสื่อมอีกด้วย

เปิดเสียงหูฟังระดับเท่าไรที่เรียกว่าดังเกินไป

ตามข้อมูลของ NIH การรับฟังเสียงที่ต่ำกว่า 70 เดซิเบล ถึงแม้ว่าจะต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อความสามารถในการได้ยิน ในขณะเดียวกัน เสียงดังในระดับตั้งแต่ 85 เดซิเบลขึ้นไป เป็นเวลานาน หรือ ต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว

คุณอาจจะสงสัยว่าเสียงที่ว่าดังเกินไป นี่มันเป็นอย่างไร ก็ให้ลองนึกภาพเวลาที่คุณใส่หูฟังแล้วเปิดเสียงดังจน คนข้างตัวต้องตะเบ็งเสียงเรียก คุณถึงได้ยิน นั่นคือเสียงที่คุณเปิดดังประมาณ 75 เดซิเบล 

ในทางปฏิบัติมันยากที่จะวัดว่าเสียงที่คุณเปิดมันดังเกินเดซิเบลที่กำหนดหรือไม่ Dr.Fink จึงมีข้อแนะนำให้คุณเปิดเสียงจากมือถือของคุณเพียง 50% และลดเวลาการฟังให้น้อยลง

ตัวช่วยในการตรวจเช็คว่าเสียงที่คุณฟังดังเกินไปไหม

ในปัจจุบันมีหูฟังที่มีฟังค์ชั่นในการ Set ระดับเสียงที่ไม่เกิน 85 เดซิเบล ดังนั้นการเลือกใช้หูฟังแบบนี้ เพื่อตัวคุณ และ ลูกหลานของคุณก็เป็นไอเดียที่ดี รวมไปถึงการควบคุมเวลาที่ให้เด็กใช้หูฟังก็อาจจะจำเป็นเพื่อสุขภาพการได้ยินของพวกเขาในระยะยาว

สำหรับในมือถือ Smartphone เองในปัจจุบันมีฟังค์ชั่นที่ช่วยป้องกันระดับเสียงการใช้หูฟัง ทั้งในระบบ Android และ iOS (iPhone)

Android Smartphone (ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์)

ในระบบปฏิบัติการ Android จะมีการตั้งค่าระดับเสียงในระดับที่ปลอดภัย และจะมีการแจ้งเตือนไม่ให้คุณเพิ่มเสียงเกินกว่าที่แนะนำ อย่างไรก็ดีคุณสามารถกดปุ่มข้ามคำแจ้งเตือนดังกล่าวเพื่อเพิ่มเสียงให้ดังขึ้นเกินกำหนดได้ ซึ่งเราไม่แนะนำให้คุณทำเช่นนั้น

ระบบปฏิบัติการ Android มีระบบป้องกันการเพิ่มระดับเสียงที่อาจเป็นอันตราย

iOS iPhone (ระบบปฏิบัติการ iOS ไอโฟน)

สำหรับผู้ใช้ iPhone ใน iOS 14 ขึ้นไป คุณสามารถใช้ระบบ Headphone Safety ป้องกันระดับเสียงที่อาจเป็นอันตราย โดยคุณสามารถตั้งระดับเสียงที่เหมาะสม ระบบปฏิการจะวิเคราะห์หูฟังที่คุณใช้ในขณะฟัง แล้วปรับลดลงมาในระดับที่คุณตั้งไว้

การตั้งค่าระบบ Headphone Safety ใน iOS

1. ไปที่แอป Setting

2. เข้าเมนู Sound & Haptics

3. แตะที่ Option Headphone Safety

4. เปิดปุ่ม Reduce Loud Sounds แล้วตั้งระดับเสียง ตามค่าเดซิเบลในระดับต่างๆ เราแนะนำให้ตั้งที่ระดับ 75-80 เดซิเบล เท่านี้ไอโฟนของคุณก็จะคุมระดับเสียงไม่ให้เกินระดับที่คุณตั้งค่าไว้

สำหรับผู้ที่ใช้หูฟังเช่น AirPods, AirPods Pro, AirPods Max และ Powerbeats Pro คุณสามารถเปิดฟังค์ชั่น Live Listen ที่ช่วยทำให้หูฟังของคุณเป็นเหมือนไมโครโฟนที่ให้คุณฟังเสียงสนทนาถึงแม้ว่าคุณยังเปิดเพลงฟังอยู่ได้

5. กลับมาที่ option ต่างๆใน Setting แล้วเลือก Control Center

6. แตะ + เพื่อเพิ่มออพชั่น Hearing  ใน Control Center

7. เมื่อต้องการเปิดใช้ Live Listen  ให้เข้า Control Center โดยใช้นิ้วลากที่มุมบนขวาของจอลงมา แล้วแตะเปิดที่ icon รูปหู

8. แตะเปิด Live Listen แล้ววางไอโฟนของคุณใกล้คู่สนทนา แค่นี้คุณก็จะได้ยินเสียงพูดคุยโดยไม่ต้องปิดเสียงเพลงที่กำลังฟัง และแตะปิด Live Listen เมื่อไม่ต้องการใช้โหมดนี้

แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ

https://www.healthline.com/health-news/how-headphones-earbuds-can-slowly-harm-your-hearing-over-time

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

HEALTH IN TOUCH

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในการเปลี่ยน LIFESTYLE สู่การมีสุขภาพที่ดี และ LIFESPAN ที่ยืนยาว

Copyright 2020 © All rights reserved by healthspans