Categories
Bone Broth Intermittent Fasting Lifestyle Nutrition

6 สาเหตุที่ Bone Broth และ Mini Fast ทำให้หุ่นสวย

การลดน้ำหนักไม่จำเป็นต้องยากเย็นและเต็มไปด้วยการทรมาน Dr.Kellyann Petrucci นักธรรมชาติบำบัดให้วิธีเด็ดด้วย "น้ำซุปกระดูก" หรือ Bone Broth และการทำ Mini Fast ที่ทำให้การลดน้ำหนักไม่เพียงแต่ง่ายขึ้น แต่ยังเต็มไปด้วยประโยชน์อื่นๆ ด้วย

การทำ Intermittent Fasting หรือการอดอาหารเป็นช่วงเวลา กลายเป็นเทคนิคยอดนิยมในหมู่คนที่ต้องการลดน้ำหนักและปรับปรุงสุขภาพโดยรวม แต่การทำ Mini Fast ด้วยน้ำซุปกระดูกนั้นมีข้อดีเพิ่มเติมอีกมากมาย

คนไข้ของ  Dr.Kellyann หลายคน ต้องการลดน้ำหนักด่วนๆ เพราะปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ การอดอาหารถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดูจะได้ผลเร็ว แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายที่ไม่น้อยเช่นกัน หลายคนเริ่มทำแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะรู้สึกหิวจนทนไม่ไหว

Dr.Kellyann ไม่อยากให้คนไข้ของเธอต้องเจอกับความท้าทายเหล่านี้ ดังนั้นเธอจึงหันมาใช้ Bone Broth เป็นตัวช่วย ด้วยวิธี Mini Fast และนี่คือเหตุผลที่ทำให้โบนบรอธเป็นตัวเลือกที่ดีในการลดน้ำหนัก:

1. อิ่มนานแต่ไม่เพิ่มน้ำหนัก

Bone Broth มีรสชาติที่อร่อย อูมามิ  แคลอรี่น้อยมาก ดังนั้นคุณสามารถบริโภคได้โดยไม่รู้สึกผิดและสามารถบริโภคได้มากเท่าที่คุณต้องการ หมายความว่าไม่รู้สึกหิวแม้ในขณะที่คุณกำลังอดอาหาร

2. เสริมคอลลาเจนให้ผิวพรรณ

นอกจากลดน้ำหนักได้แล้ว คอลลาเจนในน้ำซุปกระดูกยังช่วยให้ผิวของคุณดูอ่อนเยาว์ ลดเลือนริ้วรอยได้ด้วย

3. ดีท็อกซ์ร่างกาย

เช่นเดียวกับการอดอาหารเป็นช่วงเวลา น้ำซุปกระดูกช่วยทำความสะอาดเซลล์ของคุณ ทำให้เซลล์มีพลังและดูอ่อนเยาว์ลง

4. Bone Broth ช่วยรักษาลำไส้

จุดเริ่มต้นของน้ำหนักเกิน เกิดจากลำไส้ที่ไม่แข็งแรง น้ำซุปกระดูกมีเจลาตินและสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยซ่อมแซมลำไส้ แก้ไขปัญหาการย่อยอาหารขณะที่ช่วยในการลดน้ำหนัก

5. ช่วยรักษาข้อต่อ

หนึ่งในปัญหาที่คนมีน้ำหนักเกินพบเจอ คือเมื่อพวกเขาแก่ขึ้น ข้อต่อของพวกเขาเริ่มสึกหรอและยากต่อการเคลื่อนไหว น้ำซุปกระดูกให้สารอาหารเช่นกลูโคซามีน คอนดรอยติน และสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยฟื้นฟูข้อต่อ

6. ต้านการอักเสบ

หนึ่งในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของศตวรรษคือการอักเสบเรื้อรังเป็นสาเหตุของความอ้วน การอักเสบเรื้อรังทำลายเซลล์ของคุณและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่ทำให้คุณเพิ่มน้ำหนัก การอักเสบนำไปสู่น้ำหนักเพิ่มขึ้น สร้างวงจรอักเสบที่นำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น สิ่งนี้เป็นตัวเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางเมแทบอลิซึม ที่ทำให้คุณเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น พัฒนาการอักเสบมากขึ้น และอื่นๆ เมื่อคุณหยุดวงจรนี้โดยการรักษาการอักเสบด้วยสารอาหารเช่นที่มีใน Bone Broth น้ำหนักจะเริ่มลดลง นอกจากนี้ ผิวที่แห้ง หยาบ และมีแนวโน้มเกิดริ้วรอย—ซึ่งเป็นสัญญาณภายนอกของการอักเสบภายใน—จะเริ่มดูเรียบเนียน นุ่มนวล และอ่อนเยาว์ลง

การดื่ม Bone Broth ในช่วง Mini Fast สองครั้งต่อสัปดาห์สามารถเปลี่ยนการลดน้ำหนักให้เป็นประสบการณ์ที่ดี คุณจะเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว พร้อมรู้สึกดีขึ้นทั้งกายและใจ ไม่ต้องหิวหรือทรมาน และยังได้รับประโยชน์มากมายที่ Bone Broth มอบให้

การเริ่มต้น Mini Fast อาจฟังดูน่ากลัว แต่เมื่อคุณลองดู คุณจะพบว่ามันเป็นวิธีที่สะดวกและมีประสิทธิภาพในการดูแลรูปร่างและสุขภาพของคุณ ลองดูสิ แล้วคุณจะรู้ว่าการดูแลสุขภาพนั้นง่ายและอร่อยกว่าที่คิด!

 
Categories
Circadian Rhythm Intermittent Fasting Lifespan Lifestyle Nutrition Sleep

5 วิธีชะลอวัยชรา

เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 พี่ปุ๋มมอบของขวัญปีใหม่ให้พวกเราทุกคนด้วยวิดีโอสรุปหนังสือดีที่น่าตื่นเต้นมากคือ Lifespan : Why We age and Why We Don’t Have To ซึ่งเขียนโดย Prof.David A Sinclair และ Matthew D Laplante จำนวน 4 ตอน ใครอยากฟังอีกครั้ง กดไปชม Playlist จาก YouTube ข้างล่างนี้ค่ะ

ในหนังสือ Lifespan ซึ่งปัจจุบันนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ แก่ช้า อายุยืน Prof.David Sinclair ได้นำเสนอทฤษฎีที่เป็น Hallmarks of Aging ทฤษฎีที่ 9 ซึ่งเขาเรียกมันว่า “Information Theory of Aging” มีใจความสำคัญว่า ในร่างกายของเรามีโปรแกรมที่ใช้ในการอ่าน “พันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม” (Epigenome) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการทางเมตาบอลิสมทั้งหมดในร่างกาย ดังนั้นถ้าการอ่านข้อมูลผิดพลาด นั่นก็หมายถึงการนำไปสู่ความแก่ชรา

ข้อมูล 2 ประเภทภายในร่างกายที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้

1. DNA เป็นข้อมูลดิจิตอลที่คล้ายกับไฟล์ข้อมูลของเพลงที่เก็บไว้บน DVD
 
2. Epigenome คือเครื่องมือที่อยู่ภายในเซลล์ ทำหน้าที่บอกเซลล์ว่ามันควรจะทำอะไรและอย่างไรผ่านการส่งสัญญาณบอกดีเอ็นเอที่เก็บอยู่ในเครื่องห่อหุ้มที่มีลักษณะเฉพาะตัวให้เปิดหรือปิดเครื่องห่อหุ้มนั้น ซึ่งมันก็คล้ายๆกับเครื่องเล่น DVD ที่เมื่อทำงานก็จะทำให้เกิดเสียงเพลงออกมาจากข้อมูลที่เก็บไว้ใน DVD นั้น
 
ในตอนที่หนึ่งของวิดีโอที่พี่สรุปหนังสือ Lifespan นั้น Prof.David กล่าวว่า ย้อนกลับไปในทะเลต้นกำเนิด (Primordial Sea) เมื่อสี่พันล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษที่เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ มีวิวัฒนาการมาให้รับรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนดีเอ็นเอได้อย่างรวดเร็ว และจะหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อผันพลังงานมาใช้ในการซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งเรียกวงจรนี้ว่า Survival Circuit ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว การส่งสัญญาณเพื่อความอยู่รอดและความมีอายุยืนยาวของเซลล์ จึงถูกควบคุมโดยกระบวนการซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายว่าทำได้ดีแค่ไหน
 
ถ้าความเสียหายบนดีเอ็นเอมีมากเกินไป ก็จะนำไปสู่การเร่งความแก่ชรา เพราะร่างกายประสบปัญหาในการที่จะจัดการผันพลังงานมาซ่อมแซมดีเอ็นเอได้ทันท่วงที นอกเหนือไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงบนดีเอ็นเอด้วยกระบวนการเติมเมทิลกรุ๊ป (Methylation process) ยังมีผลทำให้กระบวนการอื่นภายในเซลล์ที่ปกติเปลี่ยนแปลงไป เช่นกระบวนการทำลายสารพิษและการซ่อมแซมทางกายภาพทำให้ร่างกายมีความชราทางชีวภาพ (Biological aging) ก่อนเวลาตามอายุขัย (Chronological age)

เส้นทางชีวเคมีชะลอความชราทางชีวภาพ

Prof.David Sinclair ได้พูดถึงเส้นทางชีวเคมีสำหรับความมีชีวิตที่ยืนยาว (Longevity Pathways) ซึ่งควบคุมพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือยีนในลักษณะที่ชะลอกระบวนการแก่ชรา เช่น ภาวะอักเสบ (Inflammation) ความเครียดจากกระบวนการออกซิเดชัน (Oxidative stress) ในขณะเดียวกันก็เร่งกระบวนการฟื้นฟูซ่อมแซมดีเอ็นเอให้ย้อนกลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติ เส้นทางชีวเคมีดังกล่าวได้แก่
 
1. The Growth Hormone/Insulin and Insulin-Like Growth Factor-1 Signaling Pathway
 
2. FOXO Transcription Factors
 
3. Sirtuin Protein and NAD+
 
4. Yamanaka Factors
 
ทุกเส้นทางชีวเคมีจะชะลอวัยชราด้วยการส่งสัญญาณไปยังเซลล์ว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการตาย ด้วยการเพิ่มความอดทนของเซลล์ต่อความเครียด (Stress Resilience) ในระดับที่สมดุลไม่มากไม่น้อยเกินไป งั้นเรามาดูกันว่า เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อชะลอวัยชรา

5 วิธีชะลอวัยชรา

1. การจำกัดแคลอรี่/การหยุดกินอาหาร (Calorie Restriction/Fasting)

เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยยืดอายุไขในสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด โดยมีงานวิจัยที่จำกัดแคลอรี่ใน หนอน แมลงวัน หนู และลิง 20-30% กลไกสำคัญของการจำกัดแคลอรี่กับอายุขัยที่ยืนยาว เกี่ยวข้องกับการลดความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพระบบต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์
 
ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเราควรจะจำกัดแคลอรี่เท่าใดจึงจะเห็นประโยชน์และประสิทธิภาพในเรื่องการยืดอายุขัย แต่โชคดีที่การหยุดกินอาหารเป็นช่วงเวลา (Intermittent Fasting) ก็เลียนแบบผลลัพธ์ได้เหมือนกับการจำกัดแคลอรี่โดยที่ทำได้ง่ายกว่าและไม่รู้สึกทรมานมากนัก งานวิจัยในมนุษย์เกี่ยวกับการจำกัดแคลอรี่และการหยุดกินอาหารเป็นช่วงเวลานั้นแสดงให้เห็นว่า มีการเพิ่มการทำงานของเส้นทางชีวะเคมีได้แก่ Sirtuins, Autophagy และ FOXO proteins
 
งานวิจัยในปี 2562 ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine (พี่ปุ๋มเคยทำไลฟ์สรุปงานวิจัยนี้ไปแล้วค่ะ) ได้ทบทวนงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การหยุดกินอาหารเป็นช่วงเวลามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผ่านการลดการผลิตอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบต่อต้านความเครียดที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และกระตุ้นระบบที่เก็บกวาดภายในเซลล์และซ่อมแซมดีเอ็นเออย่างเช่น Autophagy และ Sirtuins
 

2. การใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับจังหวะนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm Alignment)

Prof.David Sinclair กล่าวว่าร่างกายต้องการ NAD+ เพื่อการทำงานของเส้นทางชีวเคมีแห่งความยืนยาวของอายุขัยที่ชื่อ Sirtuins NAD เป็นโมเลกุลที่สำคัญมากในกระบวนการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน (ลองไปศึกษาการสร้าง ATP จาก Glycolysis, TCA Cycle และ Phosphoryration ดูค่ะ แล้วจะ get เลย) ซ่อมแซมความเสียหายของดีเอ็นเอ สร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกัน เผาผลาญไขมัน และควบคุมนาฬิกาชีวภาพภายในร่างกาย
 
ข่าวร้ายก็คือเมื่อเราอายุมากขึ้น ระดับ NAD จะลดลง และด้วยเหตุนี้จึงเร่งวัยชรา ทั้ง NAD และ Sirtuins เชื่อมโยงกับจังหวะนาฬิกาชีวภาพ และการแสดงออกของทั้ง NAD และ Sirtuins ขึ้นอยู่กับจังหวัดนาฬิกาชีวภาพมาก (Circadian dependent)
 
จังหวะนาฬิกาชีวภาพในมนุษย์มีลักษณะเป็นสองช่วงจังหวะ (Diurnal rhythm) คือรอบกลางวันและกลางคืนตามสิ่งแวดล้อมและแสง ถ้าเราใช้ชีวิตผิดเพี้ยนไปจากจังหวะนาฬิกาชีวภาพนี้ เรากำลังขัดขวางการทำงานของ NAD และ Sirtuins มีงานวิจัยที่พบความเกี่ยวพันระหว่างการใช้ชีวิตผิดเพี้ยนไปจากจังหวะนาฬิกาชีวภาพกับ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง อัลไซเมอร์ และซึมเศร้า ซึ่งก็เป็นกลุ่มอาการของความแก่ชราทั้งสิ้น
 

3. คุณภาพการนอน

เรื่องนี้พี่ปุ๋มเขียนโพสต์ไว้เยอะมากว่า การนอนหลับที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมร่างกายทั้งหมดที่เกิดขึ้นการความเสียหายระดับเซลล์ในช่วงเวลากลางวัน การนอนหลับที่ดีช่วยสร้างกล้ามเนื้อและเคลียร์สารพิษออกจากสมอง นอกจากนั้นในช่วงเวลานอน ร่างกายยังสร้างฮอร์โมนต่างๆ กระบวนการ autophagy ทำงานเพื่อกำจัดขยะภายในเซลล์
 
ฮอร์โมนตัวที่สำคัญมากคือเมลาโทนิน (พี่เคยเขียนโพสต์ดีมากเรื่อง เมลาโทนินคือ antioxidant ที่สำคัญที่สุดในการปกป้องไมโตคอนเดรีย) ดังนั้นถ้าเราใช้ชีวิตผิดเพี้ยนไปจากจังหวะนาฬิกาชีวภาพ นอนไม่เป็นเวลา นอนไม่มีคุณภาพ เจอแสงประดิษฐ์สีฟ้าในช่วงกลางคืนตลอดเวลาก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมร่างกายจึงแก่ก่อนวัย

4. สร้างทั้งการเติม และ บริจาคเมธิลกรุ๊ปให้เพียงพอ (Adequate Methylation and Methyl donors)

เมื่อเราเริ่มแก่กระบวนการเติมเมทิลกรุ๊ปลงบนดีเอ็นเอเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคือหนึ่งใน Hallmarks of aging บทบาทของการเติมเมทิลกรุ๊ปที่เหมาะสมคือการควบคุมเกือบทุกปฏิกิริยาภายในร่างกาย เริ่มต้นตั้งแต่การย่อยอาหาร ความยืดหยุ่นของเซลล์สมอง และการแสดงออกของยีนในการซ่อมแซมดีเอ็นเอ
 
ร่างกายต้องการทั้งการเติมและการบริจาคเมทิลกรุ๊ปลงบนดีเอ็นเอในปริมาณที่เหมาะสม มีงานวิจัยล่าสุดในปี 2564 ที่พบว่า เมื่อให้อาหารที่เป็นตัวบริจาคเมทิลกรุ๊ปที่ดีมาก ช่วยลดอายุทางชีวภาพของผู้เข้าร่วมการทดลองถึง 3 ปีภายในเวลาแค่ 8 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมการทดลองกินอาหารที่มีโฟเลท ขมิ้นชัน EGCG (ชาเขียว) เควอเซติน rosmarinic acid ผักใบสีเขียวจัด ผักตระกูลครูซิเฟอร์รัส (เช่น กระหล่ำ บร๊อคโคลี่ บรัสเซลสเปร้าท์) ตับ ไข่

5. ระบบต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant Defense)

ในการดำรงชีวิตอยู่แต่ละวัน ร่างกายต้องเจอกับความเสียหายทางกายภาพ และด้วยกฎเทอร์โมไดนามิกข้อที่สอง Entropy ก็กำลังทำงานพาร่างกายไปสู่ความโกลาหลตามอายุโดยเวลาของสิ่งมีชีวิตนั้น วิธีเดียวที่จะชะลอ Entropy ได้ก็คือ เพิ่มความอดทนของร่างกายต่อภาวะเครียดที่เกิดจากกระบวนการออกซิเดชันภายในเซลล์ ผ่านการเสริมระบบต้านอนุมูลอิสระของร่างกายให้แข็งแรง
 
มันเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ดีการเติมสารต้านอนุมูลอิสระจากภายนอกเข้าไปจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะได้ผลเสมอไป การเพิ่มระบบต้านอนุมูนอิสระภายในร่างกายเองน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
 
วิธีเพิ่มระบบต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกายของเราเองมีหลายวิธีได้แก่การหยุดกินอาหารเป็นช่วงเวลาการจำกัดแคลอรี่การออกกำลังกายการเจอกับความเย็นความร้อนวิธีเหล่านี้สนับสนุนเส้นทางชีวเคมีการยืดอายุขัย Sirtuins, FOXO proteins, Autophagy, Yamanaka factors
 
ซึ่งรายละเอียดเต็มเหยียดในการยืดอายุขัยทั้งหมดที่บทความนี้นำเสนอ มีอยู่ในหนังสือชื่อ Stronger By Stress ที่พี่ปุ๋มเคยทำไลพ์ไป 3 ตอน แล้วยังไม่มีเวลาทุ่มเทอ่านต่อเลย เพราะ Siim เขียนลึกซึ้ง เต็มไปด้วยงานวิจัยที่ต้องไปอ่านเพิ่ม ซึ่งพี่อ่านไปก็สูดยาดมไป เป็นหนังสือดีที่ไม่ friendly reader เท่าไหร่ค่ะ
 

ทั้ง 5 วิธีชะลอวัยชรา นอกจากจะช่วยลดอายุขัยให้กับพวกเราทุกคนแล้ว ก็ยังทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น จะรออะไรกันอยู่ล่ะคะ ลงมือปฏิบัติ ณ บัดนาวค่ะ

ขอความมีสุขภาพกายใจที่ดีจงสถิตเป็นทรัพย์สินที่มั่งคั่งสำหรับทุกคน (หมายเหตุ : งานวิจัยอ้างอิงอยู่ในลิงค์แหล่งข้อมูลนะคะ)

แหล่งข้อมูล : https://siimland.com/slow-down-biological-aging/
Categories
Autophagy Intermittent Fasting Lifespan

6 ขั้นตอนยกระดับ Autophagy ภายใน 1 วัน

Autophagy เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการมีสุขภาพดีของเซลล์ ซึ่งจะมีการทำความสะอาดภายในเซลล์ด้วยการเก็บกวาดเอาชิ้นส่วนโปรตีนที่สร้างผิดรูป ชิ้นส่วนภายในเซลล์ที่เสียหายโดยเฉพาะไมโตคอนเดรีย ไปเป็นวัถุดิบในการสร้างเป็นพลังงาน หรือนำเข้าไปทำลาย/รีไซเคิลภายในไลโซโซม ในยามที่ขาดแคลนพลังงาน

Autophagy เป็นกระบวนการที่เกิดตามธรรมชาติภายในเซลล์อยู่แล้ว ไม่ได้มีลักษณะเป็นสวิตช์ปิด-เปิด แต่มีลักษณะเป็นเหมือนดิมเมอร์ ขยับหรี่ลงหรือเร่งขึ้นได้ ตามสภาวะระดับพลังงานภายในเซลล์

เมื่อมีอาหารเข้าสู่ร่างกาย Autophagy switch ก็จะหรี่ลง แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอยู่ในสภาวะขาดแคลนพลังงาน Autophagy switch ก็จะเร่งขึ้น

พี่ปุ๋มเคยสรุปให้พวกเราเข้าใจว่า สรีระวิทยาของการหยุดกินอาหารมี 5 ระยะ เราจะพบว่ากระบวนการเก็บกวาดขยะภายในเซลล์ (Autophagy) จะถูกกระตุ้นเต็มที่หลังจากที่หยุดกินอาหาร 48-72 ชั่วโมง เมื่อไกลโคเจนสำรองที่ตับหมดลง และเข้าสู่ภาวะคีโตซิสอย่างสมบูรณ์

บทความนี้ เรามาศึกษา 6 ขั้นตอนในการยกระดับกระบวนการเก็บกวาดขยะภายในเซลล์  ภายใน 1 วัน โดยไม่ต้องหยุดกินอาหาร 48-72 ชั่วโมง พี่จะสรุปให้ว่า 6 ขั้นตอนนี้มีอะไรบ้าง

อวัยวะสำคัญที่เป็นตัวกำหนดระดับ Autophagy คือตับ เพราะระดับไกลโคเจนที่พร่องลง เป็นตัวส่งสัญญาณให้เซลล์รับรู้ว่าร่างกายกำลังอยู่ภายใต้การขาดแคลนพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับกระบวนการ Autophagy ให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อนำชิ้นส่วนภายในเซลล์ที่เสียหาย หรือโปรตีนที่พับผิดรูป นำไปเป็นวัตถุดิบสร้างพลังงาน หรือนำกลับไปรีไซเคิลที่ไลโซโซม

กระบวนการเก็บกวาดขยะภายในเซลล์ จะถูกยกระดับได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับ

1. สุขภาพเมตาบอลิสม ถ้ามีกลุ่มอาการ Metabolic Syndromes การยกระดับกระบวนการเก็บกวาดขยะภายในเซลล์  ก็จะเกิดช้าลง

2. สมดุลพลังงาน ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ถ้าร่างกายมีระดับไกลโคเจนสำรองที่ตับต่ำ ก็จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นตัวรับรู้การขาดแคลนพลังงานชื่อ AMPK ได้เร็วขึ้น ซึ่ง AMPK ก็จะส่งสัญญาณเพื่อยกระดับกระบวนการ Autophagy ให้เพิ่มขึ้น

3. ร่างกายอยู่ในภาวะ Fed หรือ Fast ถ้าอยู่ในภาวะ Fed ตัวรับสัญญาณสารอาหารชื่อ mTOR และฮอร์โมนอินซูลินก็จะถูกกระตุ้น เพื่อนำเอาสารอาหารที่เข้ามาในร่างกาย ไปสร้างการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเซลล์ mTOR ลดระดับการก่อตัวของ Autophagosome (ทำหน้าที่เหมือนแพ็คแมน) นั่นหมายถึงการลดระดับกระบวนการ Autophagy ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการวางแผนที่จะยกระดับกระบวนการเก็บกวาดขยะภายในเซลล์  ให้เพิ่มขึ้นภายใน 1 วัน หมายถึงการ “Manipulate” ระหว่าง mTOR กับ AMPK ซึ่งไม่สามารถจะเกิดได้ด้วยการพึ่งพาการหยุดกินอาหาร 24 ช.ม.แต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการใช้หลากหลายวิธีเป็นขั้นตอนซ้อนกัน เพื่อยกระดับกระบวนการ Autophagy ให้ใกล้เคียงกับการหยุดกินอาหาร 48-72 ช.ม.ได้มากที่สุด

Autophagy

6 ขั้นตอนในการยกระดับกระบวนการ Autophagy ภายใน 1 วัน

1. ก่อนหน้า 1 วัน มื้ออาหารจะต้องเป็นคาร์โบไฮเดรตต่ำ

น้อยกว่า 50 กรัมต่อวันได้ยิ่งดี เพื่อให้ร่างกายใช้ไกลโคเจนสำรองที่ตับให้มากที่สุด ทำให้ในวันรุ่งขึ้นเมื่อหยุดกินอาหารร่างกายจะเข้าสู่ภาวะคีโตซิส และใช้ไกลโคเจนสำรองหมดเกลี้ยง เพื่อกระตุ้นการทำงานของ AMPK ซึ่งก็จะไปยกระดับกระบวนการ Autophagy อีกที

2. Autophagy Coffee

เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ทำการหยุดกินอาหาร 20 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ดื่มกาแฟดำ ชา ชาเบอร์กามอต น้ำขิง แทนอาหารเช้า สารโพลีฟีนอลในกาแฟ ชา สามารถกระตุ้นกระบวนการ Autophagy ได้ โดยลดการส่งสัญญาณ mTOR ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ ถ้าต้องการเติมไขมันให้เลือก MCT หรือน้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนชาเท่านั้น เพื่อ boost การผลิตคีโตน เพราะเราพบว่าคีโตนบอดี้สามารถกระตุ้น Autophagy ประเภทหนึ่งที่สำคัญมากชื่อ Chaperone-Mediated Autophagy (พี่กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่อง CMA นี้อยู่ น่าสนใจมาก เพื่อมาเขียนโพสต์ภายหลังนะคะ)

3. Apple Cider Vinegar

น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลสนับสนุนการสร้างคีโตนและยับยั้งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเท่ากับส่งเสริมกระบวนการ Autophagy ไปโดยปริยาย ผสมน้ำส้มสายชูหมักแอปเปิ้ลกับน้ำดื่มทั้งวัน ตะกอนโปรตีนในน้ำส้มสายชูหมักแอปเปิ้ลมีปริมาณน้อยมาก ซึ่งไม่น่าจะส่งผลขัดขวางกระบวนการ Autophagy แต่ถ้าพวกเรากังวล ก็เลือกใช้น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลแบบกลั่นใสก็ได้

4. Exercise

หลังจากดื่มกาแฟดำหรือชาตอนเช้าแล้ว ต้องมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเช่น เดิน 45-60 นาที หรือออกกำลังกายเบาๆ 30-45 นาที การออกกำลังกายในขณะหยุดกินอาหาร เพิ่มระดับ LC3B-II ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกิดในขณะที่ Autophagosome ก่อรูปร่างขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเริ่มมีกระบวนการ Autophagy เกิดขึ้น Siim แนะนำให้ใช้เวลาครึ่งเช้าออกกำลังกายแบบ low intensity movement เช่น เดิน ทำงานบ้าน ทำสวน เพราะสามารถทำได้ในขณะหยุดกินอาหารโดยไม่ทำให้หิวมากนัก ส่วนการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance Training) หรือ Moderate to Intense Aerobic Exercise ควรเก็บไว้ตอนท้ายวันของการหยุดกินอาหาร เพื่อหลังจากเสร็จการออกกำลังกายก็จะถึงเวลา Break Fast พอดี ก็จะช่วยเรื่องการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายได้ดี

5. Take a sauna

หลังจากออกกำลังกาย วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการส่งเสริมการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อคือเข้าอบซาวน่า การให้ร่างกายเผชิญกับความร้อนหรือหนาวจัด จะเพิ่มกระบวนการ Autophagy ให้เซลล์ประสาท และเป็นหนึ่งวิธีในการรักษาโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาท Heat Shock Proteins (HSPs) จะถูกปลดปล่อยออกมาภายใต้ปฏิกิริยาอักเสบ ได้รับความเครียดเช่นจากความร้อน/หนาวจัด การอดอาหาร ขาดออกซิเจน หรือขาดน้ำ HSPs ช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย และช่วยซ่อมแซมโปรตีนที่เสียหายเหมือนกับกระบวนการ Autophagy นักวิจัยพบว่า การปล่อย HSPs ถูกควบคุมผ่านกระบวนการ Autophagy ควรอบซาวน่า 15-20 นาทีหลังออกกำลังกาย

6. One Meal A Day (OMAD)

กิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1-5 ควรใช้เวลาราวๆ 20 ชั่วโมง ถ้าในวันนั้นมีการออกกำลังกายเบาๆ ก็ควรจะรอ 1-2 ชั่วโมงก่อนที่จะ Break Fast เพื่อรอให้ระดับคอร์ติซอลลดลง แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน ก็ควร Break Fast หลังออกกำลังกายเสร็จเลย เพื่อการฟื้นตัวที่ดีและลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้

Autophagy

จะทราบได้อย่างไรว่าร่างกายเกิดกระบวนการ เก็บกวาดขยะภายในเซลล์

เราไม่สามารถวัดกระบวนการ เก็บกวาดขยะภายในเซลล์  โดยตรงได้ นอกจากทำการตัดชิ้นกล้ามเนื้อไปส่องตรวจดูร่องรอยของ Autophagosome ในขณะหลอมรวมตัวกับไลโซโซม หรือใช้วิธีที่เรียกว่า Flow cytometry

สิ่งที่พวกเราทำได้เองที่บ้านเพื่อวัด Autophagy ทางอ้อม คือ คำนวณ

1. Glucose Ketone Index (GKI) =
{Glucose level (mg/dl)/18}/Ketone level (mmol/L)

ถ้าต่ำกว่า 3 = อยู่ในภาวะคีโตซิสสูง
3-6 = อยู่ในภาวะคีโตซิสปานกลาง
6-9 = อยู่ในภาวะคีโตซิสอ่อนๆ
>9 = ไม่อยู่ในภาวะคีโตซิส

2. ถ้าสามารถวัดอัตราส่วน Insulin : Glucagon ได้ด้วย โดยมีค่าต่ำกว่า 1 ร่วมกับ GKI ที่ต่ำกว่า 3 และหยุดกินอาหารมา 20 ชั่วโมงขึ้นไป เราสามารถคาดเดาได้ว่ากำลังเกิดกระบวนการ Autophagy ภายในเซลล์

และทั้งหมดนี้คือ 6 ขั้นตอนในการยกระดับกระบวนการ Autophagy ภายใน 1 วัน โดยไม่ต้องทำการหยุดกินอาหาร 48-72 ชั่วโมง

ถึงแม้ว่าดีกรีของกระบวนการ Autophagy อาจจะไม่เข้มข้นเท่าการหยุดกินอาหาร 48-72 ช.ม.ก็ตาม แต่ 6 ขั้นตอนนี้ทำให้เราสามารถยกระดับกระบวนการ Autophagy ได้ในวันที่ต้องการ โดยไม่สร้างความเครียดให้ร่างกายมากเกินไป

เราไม่มีความจำเป็นต้องทำ 6 ขั้นตอนนี้ เพื่อยกระดับกระบวนการ Autophagy ทุกวัน เพราะร่างกายจะเก่งมากในการปรับตัว ซึ่งจะทำให้ 6 ขั้นตอนนี้มีประสิทธิภาพต่ำลง

ทำสัก 1-2 ครั้งต่ออาทิตย์ + OMAD แล้ววันที่เหลือก็ทำ IF 16/8 หรือ 18/6 ก็เพียงพอแล้ว

อย่าลืมว่าเราไม่ได้ต้องการเร่งกระบวนการ เก็บกวาดขยะภายในเซลล์ ตลอดเวลา เราต้องการกระตุ้น mTOR เพื่อการสร้างเซลล์ใหม่ ซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายด้วยการกินอาหารเช่นกัน การเสพติดการหยุดกินอาหารระยะยาวที่นานและบ่อยเกิน กลับเป็นการสร้างโทษให้กับร่างกายอย่างมหันต์ ซึ่งพี่ปุ๋มกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนโพสต์ต่อไป

ดังนั้นการรักษาสมดุลระหว่าง mTOR กับ AMPK ให้เหมาะสม จึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการรักษาสุขภาพเมตาบอลิสมของร่างกาย

ขอความมีสุขภาพกายใจที่ดี จงสถิตเป็นทรัพย์สินที่มั่งคั่งสำหรับทุกคน

แหล่งข้อมูล :

https://siimland.com/

Categories
Bone Broth Intermittent Fasting Lifestyle Nutrition

Bone Broth ทำให้หลุด Fast ไหม?

“ Bone Broth ทำให้หลุด Fast ไหม? " หนึ่งในคำถามยอดฮิตของคนที่จะทำ Fasting และสนใจที่จะกิน Bone Broth บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายๆเวปไซต์ที่เป็นแหล่งความรู้ในการทำ Fasting และ Bone Broth ที่เชื่อถือได้มาสรุปสั้นๆแล้วเรียบเรียงให้คุณอ่านในที่เดียว จะเป็นอย่างไรไปหาคำตอบกันค่ะ

Bone Broth ทำให้หลุด Fast ไหม?

เอาแบบไม่เชียร์ Bone Broth ก่อนนะคะ ในทางเทคนิคผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ Fasting สายแข็งบอกว่าอาหารและเครื่องดื่มอะไรก็ตามที่มีแคลอรี่ อาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นล้วนทำให้หลุด Fast (1)

แต่เดี๋ยวนะอย่าเพิ่งรีบปิดบทความแล้วสรุปเร็วเกินไป อ่านต่อกันก่อนนะคะ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะฟาสต์ หรือ Fasted State คืออะไร ในเวปไซต์ Dietdoctor (2) ได้กล่าวไว้ว่า Fasted State ก็คือ ภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลิน และ กลูโคสในระดับต่ำหลังจากหยุดกินอาหารมา 8-12 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมมาใช้เป็นพลังงานแทนกลูโคส หรือที่เราเรียกว่าภาวะ Ketosis นั่นเอง

Bone Broth

แล้วทำไมเคยได้ยินว่า Bone Broth กินช่วง Fast ได้

นั่นสิ สับสนนะเนี่ย อ่านต่อดีกว่าค่ะ ในความเป็นจริง เวปไซต์ NCBI หรือ National Center for Biotechnology Information ได้ระบุว่าการกินคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 50 กรัมต่อวันจะทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดการใช้พลังงานจากไขมัน หรือภาวะ Ketosis  (3)

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงให้ Bone Broth เป็นเครื่องดื่มที่อนุญาตให้ดื่มได้ในช่วงทำ Intermittent Fasting เพราะ Bone Broth มีคาร์โบไฮเดรตที่ต่ำมากๆ เช่น Dr.Jason Fung นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมือวางอันดับต้นๆในเรื่องการใช้ Fasting ในการรักษาคนไข้เบาหวาน ได้ระบุว่า Bone Broth เป็นเครื่องดื่มที่แนะนำอย่างยิ่งในช่วงทำ Fasting เพราะคนไข้จะได้ประโยชน์จากสารอาหารใน Bone Broth และช่วยบรรเทาอาการหิวได้ดี (4)

OK Bone Broth ไม่ทำให้หลุด Fast งั้นกินเลยละกัน

เดี๋ยวนะ มีข้อมูลให้พิจารณาเพิ่มเติมอีกหน่อย ข้อมูลที่กล่าวมาว่ากิน Bone Broth ไม่หลุด Fast ข้างต้นนั้น พูดถึงในมุมของการใช้ไขมันเป็นพลังงานและภาวะคีโตซีส แต่ในความเป็นจริงการทำ Fasting ยังมีผลต่อร่างกายที่สำคัญอีกหลายประการ และประการที่สำคัญก็คือ Autophagy หรือ กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ เป็นกระบวนการในการฟื้นฟูตัวเองของเซลล์ ช่วยกำจัดเซลล์เก่าและเซลล์หมดสภาพออกไป 

Siim Land ได้กล่าวไว้ว่าแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำ Fasting ที่แตกต่างกัน ถ้าคุณต้องการผลของการทำ Fasting เพื่อสุขภาพแบบสายแข็งก็ควรคำนึงถึงเรื่องผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องการลดไขมัน และลดอิทธิพลของอินซูลิน (5)

หากต้องการผลเรื่องกระบวนการกลืนกินเซลล์ ก็ย้อนกลับไปสู่คำแนะนำจากสายแข็งว่าให้กินได้เฉพาะเครื่องดื่มที่ปราศจากแคลอรี่ เช่นน้ำเปล่า กาแฟ ชา น้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์วินิก้า หรือ ACV เท่านั้น เราจะเรียกการทำ Fasting แบบนี้ว่า Water Fast หรือ True Fast 

Bone Broth

แล้ว Bone Broth Fast คืออะไร

Bone Broth Fast ต่างจาก Water Fast หรือ True Fast    เป็นหนึ่งในวิธีที่เรียกว่า Fasting Mimicking Diet โดยแทนที่จะให้หยุดกินอาหารทั้งหมด วิธีนี้จะให้กินอาหารโดยจำกัดแคลอรี่เหลือ 500-800 แคลอรี่ต่อวัน เป็นวิธีที่ปลอดภัย เหมาะกับมือใหม่ ในขณะที่ยังให้ผลดีต่อสุขภาพ (6)

Bone Broth Fast เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยมีการแนะนำวิธีกันมากมายเช่น Dr.Josh Axe แพทย์ chiropractic ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ทางเลือก และผู้ที่ศึกษาและแนะนำเรื่อง Bone Broth Fast ที่มีชื่อเสียง (7) Ali Miller นักโภชนาการ Integrative dietitian (8) เวปไซต์ healthily.com (9) และ Dr.Kellyann เจ้าแม่เรื่อง Bone Broth ที่เขียนหนังสือยอดนิยม The 21 Day Bone Broth Diet (10)

สรุปไปต่อกับ Bone Broth ดีไหม

อ่านมาทั้งหมดแล้ว อาจจะยังงงๆ ไม่รู้ว่าจะเอายังไงดี เราขอสรุปข้อแนะนำเป็นข้อๆให้พิจารณาดังนี้ค่ะ

1 กิน Bone Broth จะหลุด Fast ไหม ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำ Fasting ของแต่ละคน ถ้าคุณต้องการทำ Fast เพื่อผลของการลดไขมัน ต้องการลดอิทธิพลของอินซูลิน และรักษาภาวะ Ketosis การกิน Bone Broth ระหว่าง Fast คุณยังได้ผลที่คุณต้องการ และไม่ถึงกับทำให้หลุดจากภาวะ Ketosis แต่หากคุณต้องการทำ Fast แบบเข้มข้น ต้องการเสริมกระบวนการ Autophagy ให้คุณใช้วิธี True Fast หรือ Water Fast จะได้ผลดีที่สุดค่ะ

2 ถ้าคุณเป็นมือใหม่หัดทำ Fast ต้องการเริ่มต้น การดื่ม Bone Broth ระหว่าง Fast จะเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณเริ่มต้นได้ง่าย ปลอดภัย ไม่หิวทรมานระหว่างหยุดกิน และยังได้ประโยชน์ของการ Fast รวมถึงได้ประโยชน์อันทรงคุณค่าจากคอลลาเจนใน Bone Broth ที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร และ ผิวพรรณ 

คุณอาจจะใช้วิธีแบบ Bone Broth Fast หรือ วิธี 5:2 Fast Diet ที่กำลังนิยม (11) โดยใช้ Bone Broth เป็นอาหารประกอบ ในวัน Fast day 2 วัน วันละ 500-800 แคลอรี่  และ ในวัน Feed day 5 วันให้กินอาหารตามปกติ โดยเป็น Nutrient Dense Food (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ในบทความเรื่อง Bone Broth 5:2 Diet) iFast Bone Broth ถุงละ 35 แคลอรี่

เมื่อคุณเชี่ยวชาญในการทำ Fasting มากขึ้นคุณก็จะสามารถขยับเพดานไปเป็น Water Fast ได้ง่ายขึ้น

3 หากคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ Fast โดยสามารถทำ Water Fast หรือดื่มน้ำอย่างเดียวในการทำ Fasting ได้ต่อเนื่องอยู่แล้ว คุณจะได้ประโยชน์จากการทำ Fasting เต็มที่อยู่แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องดื่ม Bone Broth ในระหว่าง Fast 

4 สำหรับนักทำ True Fast สายแข็ง เราขอแนะนำให้คุณเตรียม Bone Broth ในการ Break Fast อาหารหลังทำ Fast ยาวต่อเนื่องควรเป็นอาหารเบาเบา ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายปรับตัว Bone Broth จึงเป็นตัวช่วยที่ดีของคุณค่ะ 

ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ละคนมีภาวะและกลไกในร่างกายที่แตกต่างกัน คงไม่มีอะไรถูกหรือผิด 100% ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เราอยากแนะนำให้คุณเลือกวิธีที่คุณสามารถอยู่กับมันได้อย่างมีความสุขและได้ผลออกมาตามที่คุณตั้งเป้าไว้ หลายๆคนสามารถทำ Water Fast ได้สบายๆอย่างต่อเนื่อง แต่บางคนทำไม่ได้ เราก็แนะนำว่าอย่าฝืนร่างกาย เดินสายกลางที่เหมาะกับตัวเอง ไม่เข้มงวดยึดติดจนเกินไป ไม่ต้องแข่งขันถ้าวิธีนั้นไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับตัวเอง พิจารณาแบบนี้แล้ว Bone Broth อาจเป็นตัวช่วยที่ดีของคุณค่ะ

Categories
Intermittent Fasting Lifestyle Nutrition

เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่าง IF16/8 vs Warrior Diet vs OMAD แบบไหนดีที่สุด

หลังจากพี่ปุ๋มสรุปเรื่องสรีระวิทยาของการหยุดกินอาหาร 5 ระยะ จากงานวิจัยชื่อ Starvation in man โดย Prof.George Cahill ไปแล้วนั้น น้องๆสามารถยึดมันเป็นหลักช่วยในการเลือก Fasting ที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ต่อสุขภาพ และ ประยุกต์ใช้กิจกรรมอื่นเสริมกับการหยุดกินอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกที่จะไม่ต้องหยุดกินอาหารระยะยาวบ่อยเกินไป ก็สามารถจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพตามที่ต้องการ

ในบทความนี้ พี่จะสรุปเปรียบเทียบการหยุดกินอาหาร 3 ประเภทที่เป็นที่นิยม ว่ามีข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ต่อสุขภาพเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มีประเภทของการหยุดกินอาหาร (Fasting) ราวๆ 15 ประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่

IF 16/8

คือ หยุดกินอาหาร 16 ชั่วโมง และมีหน้าต่างเวลาการกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เราจะกิน 2 มื้อ

The Warrior Diet (WD)

คือ หยุดกินอาหาร 20 ชั่วโมง และมีหน้าต่างเวลาการกิน 4 ชั่วโมงซึ่งกิน 1-2 มื้อ โดยมื้อใหญ่เป็นอาหารมื้อค่ำร่วมกับมื้อเล็กๆอีก 1 มื้อ

One Meal a Day (OMAD)

คือ หยุดกินอาหาร 22 ถึง 23 ชั่วโมงและมีช่วงเวลากินอาหารมื้อเดียวภายใน 1 ถึง 2 ชั่วโมง
แต่ละประเภทก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ต่อสุขภาพที่ต้องการ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกว่าประเภทใดดีที่สุด การที่ใครคนใดคนหนึ่งทำการหยุดกินอาหารไม่ว่าจะเป็นประเภทใดอย่างสม่ำเสมอ ย่อมสำคัญกว่าการหยุดกินอาหารเป็นครั้งคราว

ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการหยุดกินอาหาร

คนส่วนใหญ่ต้องการคือ ขจัดไขมัน สร้างมวลกล้ามเนื้อ ลดระดับน้ำตาล ระดับอินซูลิน ลดปฏิกิริยาอักเสบ ยืดอายุขัย ยกระดับกระบวนการ Autophagy เป็นต้น ซึ่งการหยุดกินอาหารแต่ละประเภทก็ให้ผลดีต่อสุขภาพที่มีความเหมือน หรือ แตกต่างกันอยู่บ้าง

ดังนั้นลองมาเปรียบเทียบการหยุดกินอาหารยอดนิยมทั้ง 3 ประเภท เพื่อประโยชน์ในการเลือกให้เหมาะกับเป้าหมายสุขภาพกันค่ะ

Infographic สรุปใจความสำคัญ “เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่าง IF 16/8 vs Warrior Diet vs OMAD แบบไหนดีที่สุด”

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ IF 16/8

IF 16/8 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยผู้ที่ทำให้มันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางคือ Martin Berkhan เขาตั้งชื่อการหยุดกินอาหารประเภทนี้ว่า IF 16/8 LeanGains Method ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้การหยุดกินอาหารประเภทนี้ เพื่อการเจริญเติบโตของมวลกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน

ข้อดี

  1. เป็นการหยุดกินอาหารเริ่มต้นในมือใหม่หัด fast หรือผู้ที่ไม่ต้องการหยุดกินอาหารเป็นเวลานานได้ดี
  2. ค่อนข้างง่ายและไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ก็แค่ยกเลิกการกินอาหารไปหนึ่งมื้อในแต่ละวัน
  3. มีระยะเวลาที่เข้าสู่ภาวะหยุดกินอาหารจริงราว 12 ชั่วโมง หลังจากหักช่วงเวลาดูดซึมอาหารไป 4 ถึง 6 ชั่วโมง (ระยะที่ 1 : Post Absorptive State)
  4. ไม่รบกวนการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในคนที่ฝึกหนักและต้องการภาวะ Muscle Hypertrophy เนื่องจากไกลโคเจนที่ตับยังไม่ได้มีการพร่องอย่างสมบูรณ์ (ใช้เวลา 24 ชั่วโมง) ก็กลับมากินอาหารใหม่แล้ว จึงยังไม่มีการดึงกรดอะมิโนจากกล้ามเนื้อมาใช้ในการสร้างกลูโคสใหม่ที่ตับ
  5. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากความทรมานด้วยความหิว ดังนั้นยังคงสามารถทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ดีอยู่

ข้อเสีย

  1. ระยะเวลาหยุดกินอาหารไม่นานพอที่จะยกระดับกระบวนการ Autophagy ให้เพิ่มจากพื้นฐานได้มากนัก ซึ่งถือเป็นข้อเสียที่สำคัญ เนื่องจากการยกระดับกระบวนการ Autophagy จะเกิดขึ้นเมื่อหยุดกินตั้งแต่ 24 ชั่วโมง และสมบูรณ์เต็มที่เมื่อหยุดกิน 36 ถึง 48 ชั่วโมง แล้วแต่สุขภาพเมตาบอลิสมของคนๆนั้น
  2. ยังคงพบอาการอยากน้ำตาลในระหว่างช่วงหยุดกินอาหารได้เพราะยังไม่เข้าสู่ภาวะคีโตซิสเต็มที่ (48-72 ช.ม.)
  3. ถ้าในช่วงหน้าต่างเวลากิน 8 ชั่วโมง เรากินเกิน จำนวนมื้อถี่ เช่น 3-4 มื้อ ก็จะกลบประโยชน์ต่อสุขภาพที่ควรได้รับในช่วงหยุดกินอาหารไปได้อย่างน่าเสียดาย

ไม่มีอะไรที่ต่างกันมากนักระหว่าง IF 16/8 กับ IF 18/6 ในแง่ประโยชน์ต่อสุขภาพ ทางแก้ที่ทำได้เพื่อให้ได้รับประโยชน์ในเรื่องการเข้าสู่ภาวะคีโตซิส ยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐาน ก็คือ เพิ่มการออกกำลังกาย ซาวน่า อาบน้ำเย็นจัด ในช่วงเวลาหยุดกินอาหาร

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ The Warrior Diet (WD)

การหยุดกินอาหารแบบนี้เป็นที่รู้จักกันโดย Ori Hofmekler ซึ่งโปรโตคอลการหยุดกินอาหารแบบนี้คือ มีช่วงเวลาหยุดกินอาหาร 20 ชั่วโมงร่วมกับออกกำลังกาย จากนั้นก็กินอาหาร 1 มื้อใหญ่ + มื้อเล็ก 1 มื้อ ภายในหน้าต่างเวลาการกิน 4 ชั่วโมง

ข้อดี

  1. เริ่มมีการใช้ไขมันเป็นวัตถุดิบในการสร้างพลังงาน เพราะเริ่มเข้าสู่ภาวะคีโตซิส
  2. ภาวะคีโตซิสจะทำให้ลดความหิวลงได้เป็นอย่างมาก ทำให้การหยุดกินอาหารเป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมงง่ายขึ้น
  3. เป็นการฝึกฝนร่างกายที่ดี ก่อนที่จะเริ่มต้นลองหยุดกินอาหารระยะยาวเช่น 3-5 วัน
  4. สามารถกินอาหารมื้อใหญ่และออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแคลอรี่นัก เพราะกินหนึ่งมื้อใหญ่ +1 เล็ก (option) ใน 4 ชั่วโมงเท่านั้น
  5. ถ้ามีการออกกำลังกายในช่วงหยุดกินอาหาร ยิ่งช่วยยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐาน
    6. สนับสนุนสุขภาพทางเดินอาหารให้ได้พัก เพราะจำนวนมื้อในการกินเหลือแค่หนึ่งมื้อใหญ่

ข้อเสีย

  1. ค่อนข้างยากที่จะพัฒนาสมรรถนะการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เมื่อเทียบกับ IF 16/8 เพราะมีระดับไกลโคเจนที่พร่องไปมากกว่า
  2. ถ้าช่วงเวลากินอาหารใกล้เวลานอน ก็อาจส่งผลรบกวนการนอน จากการที่ทางเดินอาหารยังต้องทำงาน ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาหยุดกินอาหาร-กินอาหารให้เหมาะสมก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบางคน
  3. เนื่องจากมีหน้าต่างการกินแคบลง ถ้าได้รับสารอาหารในช่วงนี้ไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะโปรตีน ก็อาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น

โดยทั่วไป WD ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิสได้ดีกว่า IF 16/8 แต่จำนวนแคลอรี ปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่กิน การออกกำลังกายร่วมด้วย ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อดีกรีของภาวะคีโตซิส กระบวนการ Autophagy และการเผาผลาญไขมันในคนแต่ละคนที่ใช้ WD ไม่เท่ากัน

ในแง่การเจริญเติบโตของมวลกล้ามเนื้อ IF 16/8 อาจดีกว่า WD เพราะมีหน้าต่างเวลาการกินถึง 8 ชั่วโมง สามารถ spike Muscle Protein Synthesis ได้ดีกว่า

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ One Meal a Day (OMAD)

OMAD คือการหยุดกินอาหาร 22-23 ชั่วโมงและมีช่วงเวลากินอาหารมื้อใหญ่สั้นๆหนึ่งมื้อภายในแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

ข้อดี

  1. เป็นวิธีที่เผาผลาญไขมันได้ดีกว่าอีก 2 วิธี สร้างการขาดแคลนพลังงาน (Calorie Deficit) ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะกินอาหารแค่หนึ่งมื้อ
  2. ยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐานได้มากกว่าอีก 2 วิธี เนื่องจากมีระยะเวลาหยุดกินอาหารนาน 22 ถึง 23 ชั่วโมง อาจจะถึง 24 ชั่วโมงแล้วมีช่วงเวลาการกินแค่ 30 นาทีก็เป็นไปได้
  3. เข้าสู่ภาวะคีโตซิสได้เร็ว จึงลดอาการหิวและอยากน้ำตาลได้เร็วเช่นกัน
  4. เมื่อลดอาการหิวและรู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้สามารถทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ดี
  5. ฝึกให้ทางเดินอาหารมีประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหารได้ดีขึ้นเพราะว่ากินมื้อเดียว

ข้อเสีย

  1. เช่นเดียวกับ WD คือสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ไม่ดีเท่า IF 16/8
  2. เป็นการยากในการกินให้ได้รับแคลอรี่ที่ต้องการในหนึ่งวันภายในมื้อเดียว ในหน้าต่างเวลาการกินที่สั้นมาก (1 ช.ม.) ถ้าหากว่าวัตถุประสงค์ต่อสุขภาพนั้นไม่ใช่ต้องการลดน้ำหนัก
  3. Spike Muscle Protein Synthesis ได้ 1 ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้อาจมีผลต่อกระบวนการสร้างโปรตีน (Protein Synthesis) ภายในร่างกายที่ลดลง
  4. เมื่อต้องบริโภคอาหารทั้งหมดเพื่อให้ได้แคลอรี่ที่ต้องการภายใน 1 มื้อ ทำให้เกิดอาการท้องอืด อึดอัด แน่นท้อง จุกเสียดได้
  5. สร้างเรื่องเครียดให้ร่างกายมากกว่าอีก 2 วิธี ถ้าเราไม่ได้กังวลต่อการสร้างมวลกล้ามเนื้อให้ใหญ่ผ่านการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านอย่างหนัก แต่ต้องการเพิ่มการเผาผลาญไขมัน ยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐาน ลดระดับน้ำตาล อินซูลิน ก็แนะนำให้ทำOMAD หรือ WD สลับกันไป

คำแนะนำสุดท้าย ไม่ว่าจะเลือกการหยุดกินอาหารประเภทใด เราสามารถจะประยุกต์ความรู้จาก 5 ระยะของการหยุดกินอาหาร เพื่อเสริมการหยุดกินอาหารประเภทที่เราเลือกได้ โดยมีหลัก

  1. ยึดการหยุดกินอาหารที่สะดวกและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์เป็นหลัก
  2. สามารถผสมการออกกำลังกาย การนอนที่มีคุณภาพ การรับแสงแดด การจัดการความเครียด เข้าไปเสริมการหยุดกินอาหารแต่ละวิธีได้
  3. กำหนดอาหารให้มีคุณภาพ เป็นอาหารธรรมชาติที่มีความหนาแน่นของสารอาหารสูง
  4. เพิ่มการหยุดกินอาหารระยะยาวเช่น 24 ช.ม. 1 ครั้งต่ออาทิตย์ 36-72 ชั่วโมง ควอเตอร์ละหนึ่งครั้ง

พี่ปุ๋มหวังว่าข้อมูลเปรียบเทียบการหยุดกินอาหาร 3 วิธีที่ได้รับความนิยมนี้ จะช่วยให้น้องทุกคนเลือกวิธีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และเป้าหมายสุขภาพของตัวเองกันนะคะ

แหล่งข้อมูล : https://siimland.com/fasting-16-8-vs-warrior-diet-vs…/

Categories
Autophagy Intermittent Fasting Lifespan Lifestyle

Fasting Benefits Timeline : หยุดกินอาหาร นานแค่ไหนถึงจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเมตาบอลิสม

คำถามเรื่องควรจะหยุดกินอาหารเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ดี จึงจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นคำถามยอดนิยมที่น้องๆถามกันมาตลอด พี่ว่าโพสต์นี้น่าจะมีคำตอบค่ะ

พี่ปุ๋มเคยเขียนสรุปงานวิจัยชื่อ Starvation in Man โดย Prof.George F. Cahill ในปี ค.ศ.1970 เมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว โดยเลือกสรุป 5 ระยะที่เกิดขึ้นระหว่างการหยุดกินอาหารอย่างสั้นๆ เพื่อให้พวกเราได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาของระบบเมตาบอลิสมที่เกิดขึ้น

บทความของฉบับนี้ของ Siim Land ได้เชื่อมโยง 5 ระยะที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดพอสมควร ระหว่างการหยุดกินอาหารกับประโยชน์ต่อสุขภาพที่จะได้รับ เพื่อให้น้องๆได้เลือกทำการหยุดกินอาหารให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์สุขภาพที่ต้องการ พี่ปุ๋มจึงเห็นว่าน่าจะสรุปให้น้องๆได้อ่านกัน

ร่างกายมนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้เป็นระยะเวลานานโดยปราศจากอาหารเนื่องจากเรามีแทงก์ไขมันสำรองที่เก็บไขมันไว้ประมาณ 100,000-150,000 แคลอรี่ (ไขมันร่างกาย 10-15 กิโลกรัม) ซึ่งใช้ได้ 1-3 เดือน

ในระหว่างการหยุดกินอาหาร (Fasting) หรืออดอาหาร (Starvation) ร่างกายมีการปรับกระบวนการทางสรีรวิทยา 5 ระยะ เพื่อปรับใช้วัตถุดิบในการสร้างพลังงาน (Metabolism)

งานวิจัยที่มีคุณูปการมากต่อความเข้าใจ Physiology of Fasting คืองานวิจัยชื่อ Starvation in Man โดย Prof.George F. Cahill ผู้ล่วงลับ ซึ่งอธิบายระยะต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการหยุดกินอาหารดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 : Post Absorptive Stage (1-6 ช.ม.)

หลังจากกินอาหารเสร็จร่างกายจะไม่ได้เข้าสู่ภาวะหยุดกินอาหารทันทีเนื่องจากต้องใช้เวลาเราราว 6 ชั่วโมงในการย่อยและดูดซึมอาหารอย่างสมบูรณ์
สารอาหารที่ย่อยแล้ว ยังคงไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด และจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่จึงจะเปลี่ยนจากภาวะ Fed เป็น Fast ขึ้นอยู่กับปริมาณแคลอรี่และปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เรากิน ยิ่งแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตมากเท่าไหร่ ก็ใช้เวลานานมากเท่านั้นจึงจะเข้าสู่ Fast State

ระยะที่ 2 : Glycogenolysis Stage (1-2 วัน)

เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายใช้ไกลโคเจนที่เก็บไว้จากตับเป็นหลัก ไกลโคเจนที่กล้ามเนื้อเป็นรอง

1. ไกลโคเจนจากตับใช้ได้ราวๆ 12-16 ชั่วโมง หรืออาจถึง 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างสมดุลกลูโคสและพลังงาน

2. มีการเปลี่ยนไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อเยื่อไขมันไปเป็นกรดไขมันเพิ่มขึ้น ระหว่าง 18-24 ชั่วโมงของการหยุดกินอาหาร เนื่องจากไกลโคเจนจากตับเริ่มหมด และเริ่มมีการใช้กรดไขมันแทนในการสร้างพลังงาน

3. Growth hormone เพิ่ม 1300-2000% หลังจากหยุดกินอาหาร 24 ชั่วโมง และหลังจาก 3 วัน และ flat out หลังจากวันที่ 10 ในคนน้ำหนักปรกติ ส่วนในคนอ้วน Growth hormone ยังคงเพิ่มขึ้นหลังจากหยุดกินอาหาร 14-38 วัน

ระยะที่ 3 : Gluconeogenesis Stage (1-7 วัน)

เพื่อรักษาระดับกลูโคสในกระแสเลือด ร่างกายจะสร้างกลูโคสใหม่จากกรดอะมิโน กรดไขมัน และ แลคเตท เรียกกระบวนการนี้ว่า Gluconeogenesis ซึ่งส่งผลให้มีการสลายกล้ามเนื้อ และขับไนโตรเจนออกด้วยอัตราที่สูงขึ้น

Gluconeogenesis จะสูงสุดระหว่างวันที่ 1-3 หลังจากนั้นจะลดลง ต้องขอบคุณภาวะ Ketosis และ Fat oxidation ที่ช่วยปกป้องการสูญเสียกล้ามเนื้อต่อไป

ระยะที่ 4 : Ketosis Stage (3-4 วัน)

เมื่อไกลโคเจนที่ตับหมด และ Fat oxidation เพิ่มขึ้น ร่างกายจะขยับเข้าสู่ภาวะ Ketosis ซึ่งแสดงให้ทราบจากระดับ ketone ในกระแสเลือดที่เพิ่มขึ้น

ระดับ ketone จะเพิ่มขึ้นจนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของการหยุดกินอาหาร แต่จะหยุดเพิ่ม (Plateau) หลังจากนั้น

4.1 กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมันเริ่มขัดขวางการนำเข้ากลูโคส เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยา Glycolysis และเริ่มเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมัน จากการที่เนื้อเยื้อเหล่านี้ใช้กรดไขมันเป็นวัตถุดิบในการสร้างพลังงานแทนกลูโคส และกระบวนการสันดาปกรดไขมันเป็นพลังงาน (Fat oxidation) ช่วยลดการใช้กรดอะมิโนกลุ่ม Branch-Chained (Leucine, Isoleucine, Valine) จึงช่วยสงวนมวลกล้ามเนื้อเอาไว้

4.2 การสร้างกลูโคสจากตับ จะถูกกำหนดโดยความต้องการกลูโคสของสมอง หลังจากที่ร่างกายเปลี่ยนมาใช้กรดไขมัน คีโตน ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว สมองสามารถใช้คีโตนได้ถึง 50-75% ซึ่งช่วยลดกระบวนการสร้างกลูโคสใหม่ (Gluconeogenesis) และสงวนมวลกล้ามเนื้อไว้ได้อีกด้วย

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบเมตาบอลิสมจากการใช้กลูโคสเป็นกรดไขมัน คีโตน เพื่อสร้างพลังงานภายในไมโตคอนเดรีย เกิดขึ้นภายใน 1-3 วันแรกของการหยุดกินอาหาร ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะ ketosis อย่างสมบูรณ์

ประโยชน์ต่อสุขภาพที่สืบเนื่องจากการหยุดกินอาหาร (Fasting) เป็นผลลัพธ์ของการที่ร่างกายเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ ketosis ซึ่งส่งผลให้ระดับอินซูลินและกลูโคสในเลือดลดต่ำ และเพิ่มการเผาผลาญไขมัน

ระยะที่ 5 : Diminishing gluconeogenesis and increasing marked ketoacid consumption

ภาวะคีโตซิสที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระดับคีโตนเพิ่มจาก 1-2 mmol/L ในวันที่ 3 ไปเป็น 6-10 mmol/L ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากหยุดกินอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ mild metabolic acidosis เนื่องจากมีการลดลงของระดับ bicarbonate
ในระหว่างการเกิดภาวะ mild acidosis จะมีการสูญเสียแคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส มากขึ้นกว่าช่วงเวลาที่เกิดการสลายมวลกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุเหล่านี้ออกจากกระดูก

นี่คือเหตุผลที่แพทย์บางคนรู้สึกกังวลใจ ไม่อยากแนะนำให้ทำการหยุดกินอาหารที่เกินกว่าหนึ่งอาทิตย์ โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน หรือผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนอยู่แล้ว เช่นผู้สูงอายุ

คำถามสำคัญอีกหนึ่งคำถามคือ การส่งเสริมกระบวนการกำจัดขยะภายในเซลล์ (Autophagy) จะเกิดขึ้นเมื่อมีการหยุดกินอาหารนานขนาดไหน

1 ประโยชน์สำคัญของการหยุดกินอาหารคือ การยกระดับกระบวนการกำจัดขยะภายในเซลล์ (Autophagy) ซึ่งจะทำการเก็บกวาด รีไซเคิลชิ้นส่วนอวัยวะภายในเซลล์ที่เสียหาย นำไปสร้างเป็นพลังงาน หรือสร้างชิ้นส่วนโปรตีนใหม่

2 สัญญาณสำคัญที่จะทำให้เราทราบว่ามีการส่งเสริมกระบวนการเก็บกวาดขยะ (Autophagy)หรือยัง จะผ่าน Nutrient sensors สำคัญคือ mTOR และ AMPK ถ้าร่างกายอยู่ในภาวะ Fed ระดับ mTOR และ อินซูลินจะเพิ่มสูง เมื่อพลังงานสำรองถูกนำมาใช้จนหมด จะกระตุ้น AMPK นั่นหมายถึงกระบวนการ Autophagy ได้รับการส่งเสริมด้วย

3 ดังนั้นสัญญาณสำคัญที่จะบอกว่ากระบวนการ Autophagy ได้รับการส่งเสริมหรือไม่ คือระดับไกลโคเจนที่ตับ เพราะเป็นตัวกำหนดสมดุลระหว่าง mTOR และ AMPK เมื่อไกลโคเจนที่ตับหมดภายใน 24 ชั่วโมง และเริ่มเข้าสู่ภาวะ ketosis หลังจากหยุดกินอาหาร AMPK จะเริ่มถูกกระตุ้นและส่งเสริมกระบวนการ Autophagy

4 เราสามารถใช้อัตราส่วน Insulin/Glucagon เป็นตัวชี้วัดว่า เริ่มมีการส่งเสริมกระบวนการ Autophagy แล้วหรือยัง

Siim แนะนำว่า กระบวนการ Autophagy จะทำงานเต็มที่ น่าจะเกิดภายหลังการหยุดกินอาหาร 36-48 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายไม่ได้ต้องการรีไซเคิลชิ้นส่วนของเซลล์ที่เสียหายทันที จนกว่าจะมีความต้องการจริงๆ

งานวิจัยที่วัดว่ากระบวนการ Autophagy เกิดสูงสุดและทำงานเต็มที่ หลังจากหยุดกินอาหารนานขนาดไหนมีน้อยมาก เนื่องการวัดกระบวนการ Autophagy ในทางคลินิกทำได้ยากมาก และมีโอกาสที่กระบวนการ Autophagy จะ hit plateau ได้เหมือนกับ Growth hormone และ Ketosis

FASTING-BENEFITS-TIMELINE

สรุป Timeline ประโยชน์ของการหยุดกินอาหารที่มีต่อสุขภาพแบบดูเข้าใจง่าย

4-6 ช.ม. : ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มลดลง

10-12 ช.ม. : เริ่มใช้ไกลโคเจนสำรองจากตับเพื่อสร้างพลังงาน

12-14 ช.ม. : ระดับคีโตนในกระแสเลือดเพิ่ม

18-20 ช.ม. : การสันดาปไขมันเพื่อสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น

22-24 ช.ม. : ไกลโคเจนสำรองที่ตับถูกใช้งานจนหมด

24 ช.ม. : กระบวนการสร้างกลูโคสใหม่ (Gluconeogenesis) ที่ตับ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

24-36 ช.ม. : Growth hormone เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

36-48 ช.ม. : กระบวนการ Autophagy ได้รับการส่งเสริมเพิ่มขึ้น

48-72 ช.ม. : ภาวะคีโตซิสและการสันดาปไขมัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

3 วัน : กระบวนการสร้างกลูโคสใหม่สูงสุด และเริ่มต้นลดลงหลังจากนี้

3-5 วัน : ระดับกลูโคสในเลือดลดลงต่ำสุด

หลังจาก 5 วัน : ระดับ Growth hormone เริ่มคงที่ มีการสลายกล้ามเนื้อเพิ่มอีกครั้ง

7 วัน : เพิ่มภาวะ metabolic acidosis และ ketoacidosis

ดูเหมือนว่าประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ จะเกิดระหว่างหยุดกินอาหาร 48-72 ชั่วโมง หลังจากที่ร่างกายเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะคีโตซิสอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแต่ละคนก็ใช้เวลาแตกต่างกัน ในผู้ที่มีความยืดหยุ่นของระบบเมตาบอลิสมสูง (High Metabolic flexibility) ก็สามารถเข้าสู่ภาวะคีโตสิสได้ภายใน 24 ชั่วโมงแต่ถ้าหากมีความผิดปกติของระบบเมตาบอลิสม (Metabolic dysfunction) หรือมีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (pre-diabetic) ก็จะใช้เวลานานขึ้น

Simm สรุป ตรงนี้สำคัญมากค่ะว่า “ในคนทั่วไป ระยะเวลาที่การหยุดกินอาหารที่จะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ อยู่ในช่วง 48-72 ชั่วโมง และมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะหยุดกินอาหารนานกว่านั้น”

แหล่งข้อมูล : https://siimland.com/fasting-benefits-timeline/