Categories
Lifestyle Nutrition Uncategorized

Omega-6 มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลอดเลือดหัวใจ

กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน Omega-6 มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลอดเลือดหัวใจ Polyunsaturated fats: The Omega-6 Debate in Science Simon Hill สัมภาษณ์ Prof.Bill Harris นักวิจัยที่เชี่ยวชาญทั้ง omega-3 และ omega-6 มามากกว่า 30 ปี

เรามักจะได้ยิน health influencers ทางโซเชียลมีเดียบอกพวกเราว่า การบริโภคน้ำมันพืชซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid) สูง โดยเฉพาะ omega -6 (Linoleic Acid) เป็นโทษต่อร่างกาย เพราะการมีระดับ omega-6 ในกระแสเลือดสูงนั้น

1. จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบต่อเซลล์

เนื่องจาก omega-6 จะเปลี่ยนเป็น Arachidonic Acid (AA) ที่ตับ ซึ่ง AA เป็นสารตั้งต้นในการสร้าง Bioactive molecule 100+ ชนิด ตัวที่สำคัญคือ Prostaglandin ซึ่งเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาอักเสบ นี่คือเหตุผลที่ไม่ควรบริโภค omega-6 ในปริมาณมาก เพราะจะเกิดการสร้าง AA มากตาม เพิ่มปฏิกิริยาอักเสบในร่างกาย ดังนั้นไม่ควรบริโภคน้ำมันพืชซึ่งมี omega-6 สูง แต่ควรบริโภคไขมันสัตว์ ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว ดูสมเหตุผลเนอะ  ตรงจุดนี้ Prof.Bill บอกว่า ก็แปลกนะที่มนุษย์ไม่มีความจำเป็นต้องบริโภคกรดไขมันอิ่มตัวเลยเพราะร่างกายสร้างได้เอง แต่กลับมีคนเห็นว่าต้องบริโภคกรดไขมันอิ่มตัวสูงๆ ในขณะที่กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนอย่าง omega-3 และ omega-6 ที่มีประโยชน์ ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ แต่กลับมีกลุ่มคนที่ปฏิเสธบอกว่าไม่ควรบริโภคเยอะ

2. ถ้ามีระดับ Omega-6 ในกระแสเลือดสูง จะทำให้ Low Density Lipoproteins เกิด oxidation กลายเป็น oxidized LDL

ซึ่งกลุ่มคนที่ปฏิเสธอันตรายของการมีปริมาณ LDL-particle จำนวนมาก เขาจะบอกว่า LDL particle ปรกติไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน(ทั้งๆที่มีหลักฐานงานวิจัยยืนยันหนักแน่นสุดๆ) แต่เป็น LDL particle ที่ถูก oxidized ต่างหากที่เป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ดังนั้นการบริโภคน้ำมันพืชที่มี omega-6 สูง จะทำให้ LDL particle ถูก oxidized เป็นอันตรายอย่างยิ่ง น่าเชื่ออีกแล้วใช่ไหมคะ
พี่ปุ๋มนำการสัมภาษณ์ Prof. Bill Harris ความยาว 22 นาทีมาให้พวกเราได้ฟังกัน ซึ่งตอบคำถามที่เป็นเรื่องเข้าใจผิด 2 ข้อข้างบนได้อย่างชัดเจนมากๆ ซึ่งข้อมูลผิดๆถูกเผยแพร่จากกลุ่มคนที่ปฏิเสธประโยชน์ของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน โดยนำข้อมูลที่เป็นการศึกษาทางกลไก (mechanistic data) ทำในสัตว์ทดลอง หรือ ในหลอดทดลองมาเผยแพร่ เพื่อสร้างความสมเหตุผลให้ตัวเอง แต่กลับไม่สนใจ Epidemiological studies ที่มีจำนวนมาก (Ref1, Ref 2) ที่ติดตามประชากร 20,000-30,000 คน ไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี พบว่าคนที่มีระดับ omega-6 ในกระแสเลือดสูง เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสพัฒนาโรคหลอดเลือดหัวใจและเบาหวานต่ำกว่าคนที่มีระดับ omega-6 ในเลือดต่ำ
Prof.Bill Harris บอกว่า Ref3 เป็นงานวิจัยที่ดีมากๆทำโดย Brian S Rett และ Jay Whelan ที่แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มการบริโภค omega-6 ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับ Arachidonic Acid (AA) เลย เพราะร่างกายควบคุมการสร้าง AA ให้อยู่ในภาวะสมดุลเสมอ นอกจากนั้นระดับ AA ในกระแสเลือดไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรเลยต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้นร่างกายมีระบบกำจัดภาวะออกซิเดชันที่เกิดกับ LDL particle ทันที ซึ่งตรงกับที่ Dr.Thomas Dayspring; lipidologist คนสำคัญเล็คเชอร์มาตลอด ซึ่งพี่ปุ๋มก็ได้นำมาทำไลฟ์สรุปให้พวกเราฟังไปแล้ว กลับไปฟังในช่อง Youtube ใหม่ได้ค่ะ Prof. Bill กล่าวว่า ร่างกายเป็นระบบที่ทำงานในลักษณะองค์รวม การมุ่งสนใจแต่ mechanistic data โดยไม่ดูผลงานวิจัยเชิงระบาดวิทยา ที่แสดงผลลัพธ์โดยรวมของอาหารตัวใดตัวหนึ่ง (Food Matrix) ที่มีต่อร่างกาย จึงทำให้เกิดความเข้าใจแบบมีอคติต่อ omega-6 ดังที่เห็นทางโซเชี่ยลมีเดีย
Simon Hill ถาม Prof.Bill Harris ว่า omega-6 มีอันตรายอะไรต่อร่างกายบ้าง Bill ตอบว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นไขมันย่อมให้พลังงานต่อ 1 กรัมสูงกว่า macro nutrient ตัวอื่น การที่อุตสาหกรรมอาหารนำไปใช้เป็นส่วนประกอบใน Ultraprocessed foods ร่วมกับ น้ำตาลเชิงเดี่ยว เกลือ มีโปรตีนต่ำทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับพลังงานล้นเกิน นำไปสู่โรคอ้วน ซึ่งก็จะลดทอนประโยชน์ของ omega-6 ที่มีต่อร่างกายไป Bill บอกว่านอกจากเรื่องนี้แล้ว เขาไม่เคยเห็นข้อมูลเรื่องการเป็นพิษของ omega-6 ต่อร่างกาย

เอางานวิจัยดีๆจากผู้ที่เขี่ยวชาญกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนมากกว่า 30 ปี มาแค่ 3 ฉบับก่อน จริงๆแล้วพี่ปุ๋มเก็บงานวิจัยที่จะ debunk ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับน้ำมันพืชทุกจุดไว้มากกว่า 200 ฉบับ คิดไว้ว่าจะทำให้เฉพาะกลุ่มสมาชิกที่พี่กำลังจะเปิดทาง Youtube ได้ฟังกันค่ะ

สุดท้าย ใครอยากจะเชื่ออะไร เชื่อใคร จะบริโภคอะไร เดี๋ยวนี้พี่ปุ๋มปล่อยวางค่ะ ทำหน้าที่ของพี่เสร็จ…จบ ร่างกายเป็นของท่าน…เลือกเองค่ะ

แหล่งข้อมูล:
 
Ref.1: Dietary Linoleic Acid and Risk of Coronary Heart Disease: A Systematic Review and Meta-Analysis of Prospective Cohort Studies
 
Ref.2: Tissue n−3 and n−6 fatty acids and risk for coronary heart disease events
 
Ref3: Increasing dietary linoleic acid does not increase tissue arachidonic acid content in adults consuming Western-type diets: a systematic review
Categories
Uncategorized

เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยอาหารประดิษฐ์อนาคตจะเป็นแบบนี้…

  • นักวิจัยกล่าวว่า เด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยอาหารประดิษฐ์ จะเติบโตขึ้นมาพร้อมปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว
  • น้ำหนักตัวเกินกำหนดจะทำให้อนาคตของเด็กเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และ เบาหวาน
  • ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวอีกว่าอาหารประดิษฐ์ยังก่อให้เกิดความเสียหายในระดับเซลล์ของเด็กๆ และยังนำไปสู่การมีนิสัยการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว
  • สาเหตุที่อาหารประดิษฐ์เป็นที่นิยมในการนำมาเลี้ยงดูเด็ก ก็เพราะว่ามันมีราคาถูก หาง่าย และสะดวกกว่าการเตรียมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพนั่นเอง

อาหารประดิษฐ์ทำให้เด็กอ้วนและอมโรคตอนโต

งานศึกษาชิ้นหนึ่ง  ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ JAMA Pediatrics ได้ติดตามการใช้ชีวิตของเด็กจำนวน 9,000 คนในประเทศอังกฤษ ที่ถูกเลี้ยงดูด้วยอาหารประดิษฐ์ หรือ อาหารที่มีแคลอรี่สูง และ ประกอบไปด้วยสารปรุงแต่ง

อาหารประดิษฐ์ต่างๆ เช่น ฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ขนมหวาน และขนมขบเคี้ยว จะถูกผลิตมาจากส่วนประกอบจากอาหารโดยผ่านกระบวนการ ประกอบไปด้วย ไขมัน แป้ง และน้ำตาล 

ตลอดการเฝ้าติดตามเด็กในงานศึกษาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่กินอาหารประดิษฐ์มาก ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี จนเติบโตถึงอายุ 24 ปี พบว่า มีน้ำหนักเกินเฉลี่ยปีละประมาณครึ่งปอนด์ หรือ 0.23 กก. และ มีรอบเอวเกินประมาณปีละครึ่งนิ้ว

เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง

นักวิจัยจากอิมพีเรียลคอลเลจ กล่าวว่า ด้วยการเพิ่มขึ้นของอาหารประดิษฐ์ ที่เข้าถึงง่าย และ มีความหลากหลาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบโภชนาการอาหารของโลกจากในอดีตที่ประกอบขึ้นมาจากอาหารสดโดยผ่านกระบวนการน้อยที่สุด มาเป็นอาหารประดิษฐ์ ซึ่งก่อให้เกิดข้อกังวลจากการเพิ่มการบริโภคในกลุ่มเด็ก จนถึงผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บริโภคหลัก

ภัยคุกคามต่อสุขภาพ

Michelle Tierney นักโภชนาการและ Personal Trainer ที่เชี่ยวชาญในการควบคุมน้ำหนัก ได้กล่าวว่า งานศึกษาดังกล่าวข้างต้นไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด แต่ก็มีเนื้อหาที่ควรที่จะมาเน้นย้ำ

เธอกล่าวว่า อาหารประดิษฐ์นับว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพ มันส่งผลเสียต่อระบบเมตาบอลิสมในระดับเซลล์ ทำลายความสามารถในการทำงานของเซลล์ มันก่อให้เกิดวงจรอุบาจว์ของโรคร้าย เช่น โรคหลอดเลือดแข็ง การดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไมโตคอนเดรียไม่แข็งแรง ซึ่งก่อให้เกิด ความอ่อนล้า สมองล้า อารมณ์ไม่สดใส ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

การปล่อยให้เกิดนิสัยการกินไม่ดีแบบนั้นตั้งแต่เด็ก จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาในอนาคต เธอกล่าวว่า เซลล์ที่อ่อนวัยยังมีความยืดหยุ่นแข็งแรง แต่ก็มีความเสื่อมสภาพลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น 

ร่างกายมนุษย์มีความสามารถในการการปรับตัว ถ้าเราเลือกกินในสิ่งที่ดี ร่างกายก็จะปรับตัวไปสู่การมีสุขภาพในระดับเซลล์ที่ดี แต่ถ้าเราเลือกที่จะกินอาหารประดิษฐ์ ร่างกายก็จะปรับตัวให้เป็นไปตามนิสัยการกิน ด้วยการสะสมไขมัน ที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ก่อให้เกิดการดื้ออินซูลิน ซึ่งก่อให้เกิดโรคเบาหาน ก่อนให้เกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และ อื่นๆ

เพราะมันง่ายและถูก

Julie Miller Jones ศาสตราจารย์ทางด้านโภชนาการ จากมหาวิทยาลัย St. Catherine รัฐมินนิโซต้า ชี้ว่าอาหารประดิษฐ์มักจะมีราคาถูก และ หาซื้อง่าย ในขณะที่อาหารที่มาจากธรรมชาติและไม่ผ่านกระบวนการผลิตมักจะมีราคาสูงและเสียเวลาในการเตรียม ครอบครัวรายได้น้อย และมีเวลาน้อยเนื่องจากต้องทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ จึงไม่มีกำลังและเวลาในการเตรียมอาหารสด ผักและผลไม้ เพื่อดูแลเด็กได้เองที่บ้าน

Dr. Danieal Ganjian  กุมารแพทย์  กล่าวว่าการระบาดของโรค Covid-19 ไม่ได้ช่วยทำให้การเข้าถึงอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีขึ้น เด็กๆที่อยู่บ้านในช่วงโรคระบาดกลับมีน้ำหนักตัวและเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนมากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงอาหารได้ง่ายจากการเปิดตู้เย็น

พ่อแม่ที่ Work From Home และยังต้องดูแลลูกๆในเวลาเดียวกัน กลับกลายเป็นว่าไม่มีเวลาเตรียมอาหารดีๆให้ลูกกินได้ ผลสุดท้ายเด็กๆก็ได้กินอาหารประดิษฐ์กันมากขึ้น

พ่อแม่ผู้ปกครองควรต้องเรียนรู้ในการเลือกอาการที่มีโภชนาการที่ดีให้กับลูก เลือกอาหารให้เหมาะสมหากจำเป็นที่จะต้องเลือกอาหารสำเร็จรู้ก็ควรดูส่วนผสม ฉลากโภชนาการ และเลือกชนิดของอาหารที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด และช่วยสร้างนิสัยในการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มสัดส่วนของผักและผลไม้เข้าไปในทุกๆมื้ออาหาร เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เด็กที่มีโภชนาการที่ดีในวันนี้ จะเป็นเด็กที่มีสุขภาพดีและมีคุณภาพในวันข้างหน้าค่ะ

เราแนะนำให้คุณศึกษาวิธีแยกประเภทอาหารผ่านขบวนการ ด้วยวิธี NOVA Food Classification จาก Link บทความต่อไปนี้

Categories
Uncategorized

โบนบรอธไก่ อาหารที่คุณควรกิน หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

เวลาคุณรู้สึกไม่สบาย คุณคงเคยรู้สึกอยากดื่มอะไรร้อนๆเพื่อให้คุณรู้สึกสบายตัวขึ้น  เช่นชา หรือซุปร้อนๆ อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ทำให้คุณรู้สึกปวดเมื่อยตัว เป็นไข้ อ่อนเพลีย ก็เช่นกัน อาจทำให้คุณต้องการอาหารร้อนๆ ซักถ้วย ความรู้สึกอยากอาหารร้อนๆนี้ อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และเราจะบอกว่า ซุปโบนบรอธไก่ร้อนๆ คืออาหารที่คุณควรกิน หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

ร่างกายของคุณจะเกิดการอักเสบหลังได้รับวัคซีนโควิด 19

จากข้อมูลของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention – ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ) ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 อาจมีอาการข้างเคียงหลังฉีด เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ

อาการเหล่านี้เกิดจากอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อวัคซีนฯ อาการปวดแขน เป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว เหล่านี้เป็นอาการบ่งบอกว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกำลังต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม

การรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อการฟื้นตัวจึงมีความสำคัญหลังการฉีดวัคซีนฯ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นของเหลว CDC เองก็แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆหลังได้รับวัคซีนฯ  อาหารต้านการอักเสบที่เพิ่มน้ำให้กับร่างกายก็ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วเช่นกัน

โบนบรอธไก่ร้อนๆ

ซุป...อาหารต้านอักเสบสำหรับคุณ

อาหารที่ประกอบด้วยน้ำซุป ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม หรือ โบนบรอธ เป็นอาหารที่คุณควรกินหรือดื่มเมื่อคุณรู้สึกไม่สบาย ยิ่งไปกว่านั้นหากเติมวัตถุดิบอื่นๆที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน เช่น ผักเคล ถั่ว มันฝรั่ง บรอคโคลี่ เข้าไปในซุป ก็ยิ่งเพิ่มประโยชน์ในการเพิ่มภูมิต้านทานให้กับอาหาร

และซุปที่คุณควรเลือกดื่มหลังการฉีดวัคซีนฯที่ดีที่สุด คงเป็นซุปไก่ วารสารงานวิจัยชื่อดัง Chest Journal ระบุว่าซุปไก่มีสรรพคุณทางยา และช่วยบรรเทาการอักเสบในร่างกาย

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย UCLA ได้เขียนไว้ว่า อาหารพื้นๆ เช่น ไก่ หอม แคลอท เซเลอรี่ พาสลี่ย์ เกลือ และ พริกไทย เมื่อนำมาปรุงรวมกัน พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในการช่วยต้านอาการอักเสบจากการติดเชื้อ 

Healthline เวปไซต์สุขภาพชั้นนำ สรุปไว้ว่า Bone Broth ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน ไกลซีน และ อาจินีน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการต้านการอักเสบนั่นเอง

ดังนั้นหากคุณรู้สึกมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 เช่น ปวดเมื่อย เป็นไข้ อ่อนเพลีย ไม่อยากรับประทานอาหารอะไร เราขอเพียงแค่หาซุปร้อนๆ เช่น โบนบรอธไก่ดื่มสักถ้วย นอกจากโปรตีนและสารอาหารที่จะทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นแล้ว โบนบรอธไก่ถ้วยนี้ยังทำให้คุณฟื้นตัวจากอาการไม่พึงประสงค์ได้อย่างแน่นอนค่ะ

Categories
Lifestyle Nutrition Uncategorized

คุณภาพของอาหารคือปัจจัยสำคัญที่สุดต่อสุขภาพทั้งของประชากรจุลินทรีย์และมนุษย์

ทั้ง Prof. Rob Knight และ Prof. Tim Spector ได้ยืนยันว่า ความหลากหลายของใยอาหารจากพืชที่เรารับประทานในแต่ละสัปดาห์ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยเดียวต่อความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ซึ่งความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์

บทความนี้ (1) ยืนยันอีกครั้งว่าคุณภาพของอาหารที่เรารับประทาน มีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อสัดส่วน ความหลากหลาย และการทำงานของเหล่าประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ซึ่งก็จะส่งผลต่อการลดความเสี่ยงของการพัฒนาโรคกลุ่มอาการผิดปกติของระบบเมตาบอลิสมได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวานประเภทที่ 2 หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
 
งานวิจัย (2) ชื่อ “Microbiome connections with host metabolism and habitual diet from 1,098 deeply phenotyped individuals” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Naturemedicine เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 เป็นการร่วมมือกันระหว่างหลายสถาบันทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

เป้าหมายของงานวิจัย

เป้าหมายของงานวิจัยนี้คือเพื่อสังเกตการตอบสนองของระบบเมตาบอลิสมในผู้เข้าร่วมงานวิจัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จำนวนมากกว่า 1,000 คน ภายหลังจากการบริโภคอาหารที่แตกต่าง และมีการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของประชากรจุลินทรีย์ที่ตอบสนองต่ออาหารนั้น มีการตรวจวัดพารามิเตอร์อื่นเช่น ระดับน้ำตาลในเลือดระดับคอเลสเตอรอล กิจกรรมของฮอร์โมน และตัวบ่งชี้ภาวะอักเสบในร่างกาย นอกจากนั้นยังวัดการนอนหลับและระดับกิจกรรมทางกายอีกด้วย

ผลลัพธ์ของงานวิจัย

ผลลัพธ์แสดงให้เห็น เป็นครั้งแรกว่าคุณภาพของอาหารสามารถส่งผลกระทบต่อสัดส่วนและการทำงานของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารได้ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์
 
นักวิจัยพบว่าอาหารที่ประกอบด้วยความหลากหลายที่มาจากอาหารธรรมชาติไม่แปรรูปได้จากพืชและสัตว์ มีความเกี่ยวพันกับประชากรจุลินทรีย์ที่ส่งเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพ
ในทางกลับกัน อาหารผ่านกระบวนการที่เติมน้ำตาลและเกลือเพิ่ม มีความเชื่อมโยงกับประชากรจุลินทรีย์ที่เกี่ยวพันกับโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และเบาหวานประเภทที่ 2
 
นักวิจัยยังพบอีกว่า พันธุกรรมมีบทบาทน้อยกว่าคุณภาพอาหารในการสร้างความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร
อาหารธรรมชาติจากพืชที่มีความหนาแน่นของสารอาหารสูงและจากสัตว์

ข้อเสนอของงานวิจัย

งานวิจัยเสนอแนะเราว่า การบริโภคอาหารธรรมชาติจากพืชที่มีความหนาแน่นของสารอาหารสูงและจากสัตว์ (เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว โยเกิร์ตไขมันเต็ม อาหารทะเล ปลา และไข่ เป็นต้น) ส่งเสริมประชากรจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดไขมันสายสั้นอย่าง butyrate ซึ่งเป็น postbiotic ที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น ส่งเสริมการลดลงของไขมันที่เกาะรอบอวัยวะภายใน (visceral fat) ปรับปรุงระดับน้ำตาลในเลือด ลดการอักเสบ ลดระดับคอเลสเตอรอล
 
งานวิจัยฉบับนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (3) ชื่อ “Mediterranean diet, gut microbiota and health: when age and calories do not add up” ตีพิมพ์ในวารสาร gut.bmj journals Vol 69 issue 7 ซึ่งศึกษาอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนในผู้สูงอายุ ซึ่งงานวิจัยนั้นก็แสดงผลเช่นเดียวกันว่า คุณภาพของอาหารมีส่วนสำคัญต่อความมีสุขภาพดีของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ

สุดท้าย พี่ปุ๋มก็จะสรุปเหมือนที่พี่เคยสรุปมาในหลายโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับประชากรจุลินทรีย์คือ บริโภคใยอาหารที่มาจากพืชหลากหลายให้ได้ 30 ชนิดในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารขอความมีสุขภาพกายใจที่ดี จงสถิตเป็นทรัพย์สินที่มั่งคั่งสำหรับทุกคน