ขอบคุณชนเผ่า Fat Out-Healthspans ทุกคนที่เข้าฟัง Zoom Lecture # 1 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 20.00-22.00 น. แม้ถึงช่วงเวลาถามตอบ ก็ไม่มีใครออกจาก Zoom เลย
สำหรับน้องที่พลาดไม่ได้เข้าฟัง พี่ปุ๋มสรุปเนื้อหาสำคัญให้เบื้องต้น ครั้งหน้าอย่าพลาดกันนะคะ เพราะพี่จะไม่ได้เอาวิดีโอเล็คเชอร์มาแปะบนเพจฯ อยากจะแยกไลฟ์ ซึ่งต่อไปจะใช้เวลาไม่นาน เนื้อหาจะไม่เจาะลึกมาก แต่จะใช้ Zoom Lecture ให้กับผู้ที่สนใจข้อมูลสุขภาพเชิงลึกจริงๆ เพื่อจะได้มีเวลาพูด ถาม-ตอบกันเต็มที่ และมีความเป็นส่วนตัว
มาเริ่มกันค่ะ…
“ Nothing in biology makes sense except in the light of EVOLUTION ”
" ไม่มีอะไรในชีววิทยาจะสมเหตุผลเลย ถ้ายังไม่ได้เข้าใจวิวัฒนาการ "
Theodosius Dobzhansky Geneticist
เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก พี่ว่างมากกกก เลยมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยเยอะ มีฉบับหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าชื่ออะไร แต่เจอ Quote ข้างต้นของ Theodosius Dobzhansky นักพันธุศาสตร์ชาวยูเครน-อเมริกัน ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีววิทยาสาขาวิวัฒนาการ (Evolutionary Biology) จำความรู้สึกได้ว่าประโยคด้านบนนี่ “มันโดนใจมาก” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเริ่มสนใจ Evolutionary Biology จนเป็นที่มาของการเริ่มติดตามนักวิจัยในสาขานี้จำนวนหนึ่ง และสะสมหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสาขาวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ
หนังสือ Exercised:
Why Something We Never Evolved to Do is Healthy and Rewarding เล่มนี้ เขียนโดย Prof. Daniel Lieberman PhD. นักชีววิทยาสาขาวิวัฒนาการ และ นักมานุษยวิทยาบรรพชีวิน ที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ
1. Myth # 1 : We evolved to exercise (AKA: The myth of the athletic savage)
มนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อออกกำลังกายจริงหรือ
คำตอบที่มีรากฐานมาจากวิวัฒนาการคือ
We evolved to LIMIT our physical activity whenever we reasonably could
มนุษย์มีวิวัฒนาการมาเพื่อสงวนพลังงานทุกเวลาที่ทำได้ (มีหลักฐานสำคัญมากที่ทำไมเราจึงสงวนพลังงานทุกเวลาที่มีโอกาส)
2. Myth # 2 : It is unnatural to be indolent
มันเป็นเรื่องผิดปกติที่มนุษย์จะเฉื่อยชา
คำตอบที่มีรากฐานมาจากงานวิจัยทางวิวัฒนาการคือ
ถ้าเปรียบเทียบกับไพรเมทด้วยกันแล้ว (กอริลล่า อุรังอุตัง ชิมแพนซี บาบูน) มนุษย์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่แอคทีฟที่สุด และมี % Body fat สูงที่สุด เรามักจะคิดไปเองว่า มนุษย์ไม่ชอบอยู่เฉย ทั้งๆที่โดยวิวัฒนาการแล้ว เรารวมทั้งไพรเมทอื่นถูกออกแบบมาให้สงวนพลังงาน ถึงกระนั้นมนุษย์ก็ยังแอคทีฟกว่าไพรเมทอื่น
ในขณะที่เราอยู่เฉย เราไม่ได้เฉื่อยเลย เพราะ Resting Energy Expenditure ของมนุษย์คิดเป็น 2 ใน 3 ของ Total Energy Expenditure (The cost of doing nothing)
Physical Activity ต่างจาก Exercise
3. Constrained Energy Expenditure Model
เป็นงานวิจัยของ Assc.Prof. Herman Pontzer นักชีววิทยาสาขาวิวัฒนาการอีกคนหนึ่ง งานวิจัยตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2012 แล้วฮือฮามาก เขาเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกของโลกที่เข้าไปวัด Total Energy Expenditure และ Physical Activity Level ของชนเผ่า Hadza ใน Tanzania โดยใช้ Doubly Labeled Water ซึ่งเป็นวิธีที่วัด Energy Expenditure ได้อย่างแม่นยำมากกว่าการใช้ Accelerometer
นักวิทยาศาสตร์สายการออกกำลังกายเชื่อมาตลอดว่าผู้ที่มีไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟ จะมีการใช้พลังงานออกไปมากกว่าผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า
แต่งานวิจัยของ Dr. Pontzer แสดงให้เห็นว่า ร่างกายจะสงวนการใช้พลังงานในแต่ละวันในคนแต่ละคนให้ใกล้เคียงกันทุกวันตามพฤติกรรมในอดีตของคนๆนั้น (Constrained EE)
และ Total Energy Expenditure ของชนเผ่า Hadza ไม่ได้แตกต่างจากคนเมืองนั่งโต๊ะทำงานในนิวยอร์ก หรือ ชาวนาชาวไร่ในไนจีเรียเลย และระยะเวลาที่ชนเผ่า Hadza มีกิจกรรมทางกายที่ Vigorous (ใช้พลังเต็มที่) ในแต่ละวันคือ 2.15 ช.ม.เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นเวลาพักผ่อน มีกิจกรรมทางกายเบาๆ เช่นเลี้ยงลูก นั่งล้อมวงสนทนา (นั่งในท่าสควอท) นอนเล่น
Prof. Daniel กล่าวว่า สาเหตุที่ชนเผ่า Hadza แข็งแรงไม่มีโรคเรื้อรัง เพราะวิวัฒนาการสร้างให้มนุษย์จะยอมใช้พลังงานออกไปก็ต่อเมื่อ “จำเป็นต่อการอยู่รอด” หรือ “สนุกสนาน” ชนเผ่า Hadza จำเป็นต้องมีกิจกรรมทางกายระหว่างวัน (ล่าสัตว์ เก็บน้ำผึ้ง ขุดหัวเผือกหัวมัน) เพื่อการอยู่รอด ซึ่งใช้เวลาไม่ได้มากอย่างที่เราคิดกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง NEAT ที่ Prof.James A Levine ทำไว้เยอะมากว่า NEAT ในคนแต่ละคนสามารถแตกต่างกันได้มากถึง 2,000 แคลอรี่ในแต่ละวัน และช่วยต้านความอ้วน สิ่งสุดท้ายที่ชนเผ่า Hadza จะอยากทำคือ “การจัดเวลาออกกำลังกาย” หลังเสร็จจากการหาอาหาร (ช่างย้อนแย้งกับมนุษย์ยุคดิจิทัลเหลือเกิน)