การขจัดโปรตีนที่เป็นพิษ จะทำงานได้ดีที่สุดในช่วงที่คุณหลับลึก

การขจัดโปรตีนที่เป็นพิษ จะทำงานได้ดีที่สุดในช่วงที่คุณหลับลึก

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

ระบบขจัดโปรตีนที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองที่เรียกว่า Glymphatic System ทำงานได้ดีในช่วงหลับลึก

พี่ปุ๋มมาสรุปให้ต่อสำหรับการสัมภาษณ์ Prof.Matthew Walker 3 ช.ม.เต็มทางช่อง Rich Roll Channel ใน Youtube พี่วางลิงค์ไว้ให้แล้วนะคะ
 
Prof.Matthew กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับโรคอัลไซเมอร์ เป็น area ที่มีงานวิจัยที่น่าสนใจมาก ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจว่า การอดนอนมี “ความเกี่ยวพัน” หรือว่า “เป็นต้นเหตุ” รวมทั้งเข้าใจกลไกว่าการอดนอนทำอะไรกับสมอง นอกจากนั้น ก็ยังให้ความหวังในการรักษาโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

วิทยาศาสตร์เริ่มทราบว่า

1. คนที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำ จะเกิด sticky protein 2 ชนิดคือ beta amyloid และ TAO protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นพิษต่อสมองและเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์
 
2. คนที่มีภาวะนอนไม่หลับ (insomnia) มีความเกี่ยวพัน (association) กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่จะเกิดการพัฒนาโรคอัลไซเมอร์ในระยะหลังของชีวิต
 
5 ปีหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ทราบข้อ 1 และ 2 ได้มีงานวิจัยในผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีที่ทำให้เกิดภาวะอดนอนแค่หนึ่งคืน จะพบปริมาณโปรตีนที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองยกระดับสูงขึ้นในกระแสเลือด น้ำไขสันหลัง และภายในเนื้อสมองเอง ซึ่ง Prof.Matthew กล่าวว่าเป็นการพิสูจน์ “การเป็นสาเหตุ” (Causation) ระหว่างการอดนอนกับโรคอัลไซเมอร์
 

คำถามสำคัญ

คำถามสำคัญคือการนอนที่มีคุณภาพมันมีกลไกอย่างไรจึงช่วยลดระดับโปรตีนที่เป็นพิษต่อสมองได้
 
เรื่องนี้ Prof.Matthew กล่าวว่างานวิจัยของนักประสาทวิทยาชาวเดนมาร์กชื่อ Maiken Nedergaard ที่ University of Rochester ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ (coin term) และอธิบายระบบ Glymphatic System ที่ทำหน้าที่ชำระล้างสารพิษ (detoxification) ในสมอง ว่าสมควรค่าแก่รางวัลโนเบล เพราะ Maiken พบว่า
 
1. สมองมีระบบทำความสะอาดที่เรียกว่า Glymphatic System ที่ทำหน้าที่นี้โดย Glial cells (คล้ายๆเซลล์พี่เลี้ยงที่อยู่ติดกับเซลล์ประสาท มีจำนวนมากกว่าเซลล์ประสาทหลายเท่า)
 
2. ระบบ Glymphatic System ไม่ได้เปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่จะอยู่ในโหมดเร่งเครื่องกำจัดสารพิษที่เกิดขึ้นภายในสมองในช่วงที่เราหลับลึก
 
3. โปรตีนที่เป็นพิษต่อสมองตัวสำคัญ ที่ร่างแหของ Glial cells ซึ่งประกอบกันเป็น Glymphatic System ขับออกคือ beta amyloid และ TAO protein ซึ่งพบในคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง
 
ในมุมมองของ Prof.Matthew เราควรเปลี่ยนกลยุทธ์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ จากการรักษาเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วในวัยชรา ไปเป็นป้องกันในขณะที่ยังอยู่ในวัยกลางคน

กลยุทธ์การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นอย่างดีคือ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

Prof.Matthew กล่าวว่าการนอนหลับอย่างมีคุณภาพควรถือเป็น Swiss Army knife of health เลยทีเดียวในการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ

เขาปิดท้าย 1 ช.ม.แรกของการสัมภาษณ์ด้วยประโยคสำคัญว่า “It took mother nature 3.6 million years to put this essentially thing called a 7 to 9 hours sleep need in place”

หมายเหตุ: Prof.Matthew Walker เขียนหนังสือดีเกี่ยวกับการนอนชื่อ Why We Sleep ตีพิมพ์ในปี 2560 มีฉบับแปลภาษาไทยออกมาเมื่อปีที่แล้วในชื่อ “นอนเปลี่ยนชีวิต” โดยสำนักพิมพ์ bookscape หามาอ่านกันได้ค่ะ
Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

HEALTH IN TOUCH

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในการเปลี่ยน LIFESTYLE สู่การมีสุขภาพที่ดี และ LIFESPAN ที่ยืนยาว

Copyright 2020 © All rights reserved by healthspans