หลังจากพี่ปุ๋มสรุปเรื่องสรีระวิทยาของการหยุดกินอาหาร 5 ระยะ จากงานวิจัยชื่อ Starvation in man โดย Prof.George Cahill ไปแล้วนั้น น้องๆสามารถยึดมันเป็นหลักช่วยในการเลือก Fasting ที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ต่อสุขภาพ และ ประยุกต์ใช้กิจกรรมอื่นเสริมกับการหยุดกินอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกที่จะไม่ต้องหยุดกินอาหารระยะยาวบ่อยเกินไป ก็สามารถจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพตามที่ต้องการ
ในบทความนี้ พี่จะสรุปเปรียบเทียบการหยุดกินอาหาร 3 ประเภทที่เป็นที่นิยม ว่ามีข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ต่อสุขภาพเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
มีประเภทของการหยุดกินอาหาร (Fasting) ราวๆ 15 ประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่
IF 16/8
คือ หยุดกินอาหาร 16 ชั่วโมง และมีหน้าต่างเวลาการกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เราจะกิน 2 มื้อ
The Warrior Diet (WD)
คือ หยุดกินอาหาร 20 ชั่วโมง และมีหน้าต่างเวลาการกิน 4 ชั่วโมงซึ่งกิน 1-2 มื้อ โดยมื้อใหญ่เป็นอาหารมื้อค่ำร่วมกับมื้อเล็กๆอีก 1 มื้อ
One Meal a Day (OMAD)
คือ หยุดกินอาหาร 22 ถึง 23 ชั่วโมงและมีช่วงเวลากินอาหารมื้อเดียวภายใน 1 ถึง 2 ชั่วโมง
แต่ละประเภทก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ต่อสุขภาพที่ต้องการ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกว่าประเภทใดดีที่สุด การที่ใครคนใดคนหนึ่งทำการหยุดกินอาหารไม่ว่าจะเป็นประเภทใดอย่างสม่ำเสมอ ย่อมสำคัญกว่าการหยุดกินอาหารเป็นครั้งคราว
ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการหยุดกินอาหาร
คนส่วนใหญ่ต้องการคือ ขจัดไขมัน สร้างมวลกล้ามเนื้อ ลดระดับน้ำตาล ระดับอินซูลิน ลดปฏิกิริยาอักเสบ ยืดอายุขัย ยกระดับกระบวนการ Autophagy เป็นต้น ซึ่งการหยุดกินอาหารแต่ละประเภทก็ให้ผลดีต่อสุขภาพที่มีความเหมือน หรือ แตกต่างกันอยู่บ้าง
ดังนั้นลองมาเปรียบเทียบการหยุดกินอาหารยอดนิยมทั้ง 3 ประเภท เพื่อประโยชน์ในการเลือกให้เหมาะกับเป้าหมายสุขภาพกันค่ะ
Infographic สรุปใจความสำคัญ “เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่าง IF 16/8 vs Warrior Diet vs OMAD แบบไหนดีที่สุด”
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ IF 16/8
IF 16/8 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยผู้ที่ทำให้มันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางคือ Martin Berkhan เขาตั้งชื่อการหยุดกินอาหารประเภทนี้ว่า IF 16/8 LeanGains Method ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้การหยุดกินอาหารประเภทนี้ เพื่อการเจริญเติบโตของมวลกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน
ข้อดี
- เป็นการหยุดกินอาหารเริ่มต้นในมือใหม่หัด fast หรือผู้ที่ไม่ต้องการหยุดกินอาหารเป็นเวลานานได้ดี
- ค่อนข้างง่ายและไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ก็แค่ยกเลิกการกินอาหารไปหนึ่งมื้อในแต่ละวัน
- มีระยะเวลาที่เข้าสู่ภาวะหยุดกินอาหารจริงราว 12 ชั่วโมง หลังจากหักช่วงเวลาดูดซึมอาหารไป 4 ถึง 6 ชั่วโมง (ระยะที่ 1 : Post Absorptive State)
- ไม่รบกวนการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในคนที่ฝึกหนักและต้องการภาวะ Muscle Hypertrophy เนื่องจากไกลโคเจนที่ตับยังไม่ได้มีการพร่องอย่างสมบูรณ์ (ใช้เวลา 24 ชั่วโมง) ก็กลับมากินอาหารใหม่แล้ว จึงยังไม่มีการดึงกรดอะมิโนจากกล้ามเนื้อมาใช้ในการสร้างกลูโคสใหม่ที่ตับ
- ยังไม่ได้รับผลกระทบจากความทรมานด้วยความหิว ดังนั้นยังคงสามารถทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ดีอยู่
ข้อเสีย
- ระยะเวลาหยุดกินอาหารไม่นานพอที่จะยกระดับกระบวนการ Autophagy ให้เพิ่มจากพื้นฐานได้มากนัก ซึ่งถือเป็นข้อเสียที่สำคัญ เนื่องจากการยกระดับกระบวนการ Autophagy จะเกิดขึ้นเมื่อหยุดกินตั้งแต่ 24 ชั่วโมง และสมบูรณ์เต็มที่เมื่อหยุดกิน 36 ถึง 48 ชั่วโมง แล้วแต่สุขภาพเมตาบอลิสมของคนๆนั้น
- ยังคงพบอาการอยากน้ำตาลในระหว่างช่วงหยุดกินอาหารได้เพราะยังไม่เข้าสู่ภาวะคีโตซิสเต็มที่ (48-72 ช.ม.)
- ถ้าในช่วงหน้าต่างเวลากิน 8 ชั่วโมง เรากินเกิน จำนวนมื้อถี่ เช่น 3-4 มื้อ ก็จะกลบประโยชน์ต่อสุขภาพที่ควรได้รับในช่วงหยุดกินอาหารไปได้อย่างน่าเสียดาย
ไม่มีอะไรที่ต่างกันมากนักระหว่าง IF 16/8 กับ IF 18/6 ในแง่ประโยชน์ต่อสุขภาพ ทางแก้ที่ทำได้เพื่อให้ได้รับประโยชน์ในเรื่องการเข้าสู่ภาวะคีโตซิส ยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐาน ก็คือ เพิ่มการออกกำลังกาย ซาวน่า อาบน้ำเย็นจัด ในช่วงเวลาหยุดกินอาหาร
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ The Warrior Diet (WD)
การหยุดกินอาหารแบบนี้เป็นที่รู้จักกันโดย Ori Hofmekler ซึ่งโปรโตคอลการหยุดกินอาหารแบบนี้คือ มีช่วงเวลาหยุดกินอาหาร 20 ชั่วโมงร่วมกับออกกำลังกาย จากนั้นก็กินอาหาร 1 มื้อใหญ่ + มื้อเล็ก 1 มื้อ ภายในหน้าต่างเวลาการกิน 4 ชั่วโมง
ข้อดี
- เริ่มมีการใช้ไขมันเป็นวัตถุดิบในการสร้างพลังงาน เพราะเริ่มเข้าสู่ภาวะคีโตซิส
- ภาวะคีโตซิสจะทำให้ลดความหิวลงได้เป็นอย่างมาก ทำให้การหยุดกินอาหารเป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมงง่ายขึ้น
- เป็นการฝึกฝนร่างกายที่ดี ก่อนที่จะเริ่มต้นลองหยุดกินอาหารระยะยาวเช่น 3-5 วัน
- สามารถกินอาหารมื้อใหญ่และออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแคลอรี่นัก เพราะกินหนึ่งมื้อใหญ่ +1 เล็ก (option) ใน 4 ชั่วโมงเท่านั้น
- ถ้ามีการออกกำลังกายในช่วงหยุดกินอาหาร ยิ่งช่วยยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐาน
6. สนับสนุนสุขภาพทางเดินอาหารให้ได้พัก เพราะจำนวนมื้อในการกินเหลือแค่หนึ่งมื้อใหญ่
ข้อเสีย
- ค่อนข้างยากที่จะพัฒนาสมรรถนะการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เมื่อเทียบกับ IF 16/8 เพราะมีระดับไกลโคเจนที่พร่องไปมากกว่า
- ถ้าช่วงเวลากินอาหารใกล้เวลานอน ก็อาจส่งผลรบกวนการนอน จากการที่ทางเดินอาหารยังต้องทำงาน ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาหยุดกินอาหาร-กินอาหารให้เหมาะสมก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบางคน
- เนื่องจากมีหน้าต่างการกินแคบลง ถ้าได้รับสารอาหารในช่วงนี้ไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะโปรตีน ก็อาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
โดยทั่วไป WD ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิสได้ดีกว่า IF 16/8 แต่จำนวนแคลอรี ปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่กิน การออกกำลังกายร่วมด้วย ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อดีกรีของภาวะคีโตซิส กระบวนการ Autophagy และการเผาผลาญไขมันในคนแต่ละคนที่ใช้ WD ไม่เท่ากัน
ในแง่การเจริญเติบโตของมวลกล้ามเนื้อ IF 16/8 อาจดีกว่า WD เพราะมีหน้าต่างเวลาการกินถึง 8 ชั่วโมง สามารถ spike Muscle Protein Synthesis ได้ดีกว่า
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ One Meal a Day (OMAD)
OMAD คือการหยุดกินอาหาร 22-23 ชั่วโมงและมีช่วงเวลากินอาหารมื้อใหญ่สั้นๆหนึ่งมื้อภายในแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
ข้อดี
- เป็นวิธีที่เผาผลาญไขมันได้ดีกว่าอีก 2 วิธี สร้างการขาดแคลนพลังงาน (Calorie Deficit) ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะกินอาหารแค่หนึ่งมื้อ
- ยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐานได้มากกว่าอีก 2 วิธี เนื่องจากมีระยะเวลาหยุดกินอาหารนาน 22 ถึง 23 ชั่วโมง อาจจะถึง 24 ชั่วโมงแล้วมีช่วงเวลาการกินแค่ 30 นาทีก็เป็นไปได้
- เข้าสู่ภาวะคีโตซิสได้เร็ว จึงลดอาการหิวและอยากน้ำตาลได้เร็วเช่นกัน
- เมื่อลดอาการหิวและรู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้สามารถทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ดี
- ฝึกให้ทางเดินอาหารมีประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหารได้ดีขึ้นเพราะว่ากินมื้อเดียว
ข้อเสีย
- เช่นเดียวกับ WD คือสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ไม่ดีเท่า IF 16/8
- เป็นการยากในการกินให้ได้รับแคลอรี่ที่ต้องการในหนึ่งวันภายในมื้อเดียว ในหน้าต่างเวลาการกินที่สั้นมาก (1 ช.ม.) ถ้าหากว่าวัตถุประสงค์ต่อสุขภาพนั้นไม่ใช่ต้องการลดน้ำหนัก
- Spike Muscle Protein Synthesis ได้ 1 ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้อาจมีผลต่อกระบวนการสร้างโปรตีน (Protein Synthesis) ภายในร่างกายที่ลดลง
- เมื่อต้องบริโภคอาหารทั้งหมดเพื่อให้ได้แคลอรี่ที่ต้องการภายใน 1 มื้อ ทำให้เกิดอาการท้องอืด อึดอัด แน่นท้อง จุกเสียดได้
- สร้างเรื่องเครียดให้ร่างกายมากกว่าอีก 2 วิธี ถ้าเราไม่ได้กังวลต่อการสร้างมวลกล้ามเนื้อให้ใหญ่ผ่านการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านอย่างหนัก แต่ต้องการเพิ่มการเผาผลาญไขมัน ยกระดับกระบวนการ Autophagy พื้นฐาน ลดระดับน้ำตาล อินซูลิน ก็แนะนำให้ทำOMAD หรือ WD สลับกันไป
คำแนะนำสุดท้าย ไม่ว่าจะเลือกการหยุดกินอาหารประเภทใด เราสามารถจะประยุกต์ความรู้จาก 5 ระยะของการหยุดกินอาหาร เพื่อเสริมการหยุดกินอาหารประเภทที่เราเลือกได้ โดยมีหลัก
- ยึดการหยุดกินอาหารที่สะดวกและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์เป็นหลัก
- สามารถผสมการออกกำลังกาย การนอนที่มีคุณภาพ การรับแสงแดด การจัดการความเครียด เข้าไปเสริมการหยุดกินอาหารแต่ละวิธีได้
- กำหนดอาหารให้มีคุณภาพ เป็นอาหารธรรมชาติที่มีความหนาแน่นของสารอาหารสูง
- เพิ่มการหยุดกินอาหารระยะยาวเช่น 24 ช.ม. 1 ครั้งต่ออาทิตย์ 36-72 ชั่วโมง ควอเตอร์ละหนึ่งครั้ง
พี่ปุ๋มหวังว่าข้อมูลเปรียบเทียบการหยุดกินอาหาร 3 วิธีที่ได้รับความนิยมนี้ จะช่วยให้น้องทุกคนเลือกวิธีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และเป้าหมายสุขภาพของตัวเองกันนะคะ
อ่านบทความ 6 ขั้นตอนยกระดับ Autophagy ภายใน 1 วัน
แหล่งข้อมูล : https://siimland.com/fasting-16-8-vs-warrior-diet-vs…/