เมื่อวานนี้พี่ปุ๋มได้อ่านพบข้อมูลของแอดมินเพจดังมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักได้ถึง 45 กิโลกรัม จากการ “ตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไลฟสไตล์ตัวเอง” นอกจากได้รูปร่างใหม่ที่ดูดีแล้วยังปรับปรุงสุขภาพที่ย่ำแย่จากน้ำหนักเกินระดับรุนแรง (130 กก) เป็นเวลานานให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนสามารถกลับมาวิ่งมาราธอนได้ พี่รู้สึกยินดีมากเวลาได้ยินเรื่องแบบนี้ เพราะทำให้ย้อนคิดถึงตัวเองตอนที่ปล่อยให้น้ำหนักเกินไปถึง 92.8 กก ที่ความสูงแค่ 1.52 ม. เป็นเวลานานหลายปีโดยไม่ลงมือทำอะไร Optimistic Bias เป็นสาเหตุหนึ่งเลยค่ะ จนวันหนึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตระหนักรู้ว่าตัวเราเองต้องยอมรับว่ามีปัญหาสุขภาพก่อน และตัวเราเองเท่านั้นที่ต้องเป็นคนรับผิดชอบแก้ไขมัน
พี่ได้ข้อมูลเรื่อง Optimistic Bias จาก Dr.Michael Gregor ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ NutritionFact.org ซึ่งทำเป็น vdo ความยาวประมาณ 6 นาทีอธิบายเรื่อง “Why People Don’t Eat Healthy?” ซึ่งให้ความเข้าใจเรื่อง Optimistic Bias เป็นอย่างดี เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อน้องๆที่อาจจะเคยเจอกับ Optimistic Bias โดยไม่รู้ตัวเหมือนที่พี่เคยเจอ

ทำไมมนุษย์จึงมักไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ไปเป็นการลงมือทำได้
มนุษย์โดยทั่วไปทราบดีว่า พฤติกรรมแบบใดทำให้สุขภาพดี เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีไลฟ์สไตล์ที่ส่งเสริมสุขภาพได้แก่ ออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ 5 วันๆละ 30 นาที นอนหลับ 8 ช.ม. จัดการความเครียด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น แต่ทำไมมนุษย์จึงมักไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ไปเป็นการลงมือทำได้ Optimistic Bias เป็นสาเหตุหนึ่งค่ะ
Optimistic Bias คืออะไร
Textbook ชื่อ Psychology of Food Choice มีงานวิจัยชื่อ The Impact of Optimistic Bias on Dietary Behavior อยู่ในหน้า 311-322 ซึ่งอธิบาย Optimistic Bias ว่าคือ ความเอนเอียงโดยการมอง (ความเสี่ยงของตน) ในแง่ดี ที่เป็นเหตุให้เราเชื่อว่า เรามีโอกาสที่จะประสบเหตุการณ์เลวร้ายน้อยกว่าคนอื่น ความเอนเอียงนี้จะเห็นได้ในสถานการณ์หลายอย่าง ยกตัวอย่างในเรื่องสุขภาพ เช่น
- คนสูบบุหรี่เชื่อว่า ตนมีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดน้อยกว่าคนสูบบุหรี่อื่นๆ
- คนที่ชอบกินอาหารบ่อนทำลายสุขภาพก็เชื่อว่า ตนกินอาหารประเภทนี้น้อยกว่าคนอื่น (พี่ปุ๋มมีข้อนี้เลยค่ะ)
- คนที่ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งแม้ผู้คนรอบข้างจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขามีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่เขาเชื่อว่าผู้คนรอบข้างพูดถึงเขาเกินเลยความเป็นจริง เขาเชื่อว่าเขาออกกำลังกายมากกว่าคนอื่น
- คนที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายสุขภาพ จะมีความสามารถในการหาเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆน้อยกว่าคนอื่น เช่น ผลตรวจสุขภาพประจำปีก็ยังปรกติดี (พี่ปุ๋มมีข้อนี้เลยค่ะ) เขาไม่มีประวัติพันธุกรรมโรคมะเร็ง หัวใจ ในครอบครัว โรคเหล่านี้จะเป็นในผู้ที่มีพันธุกรรมเท่านั้น

องค์ประกอบบางอย่างที่อาจช่วยในการลด Optimistic Bias
ถึงแม้ว่างานวิจัยต่าง ๆ จะแสดงว่า ยากที่จะกำจัด Optimistic Bias แต่ก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่อาจช่วยในการลด Optimistic Bias ได้คือ ถ้าทำให้กลุ่มเปรียบเทียบมีความใกล้เคียงกับตนเอง ความเอนเอียงจะสามารถลดลงได้ เช่นพบว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันประสบโรคร้ายเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ นอกจากนั้นแล้ว ถ้าคนๆนั้นประสบเหตุการณ์จริง ๆ ก็จะนำไปสู่การลดระดับ Optimistic Bias ทำให้เกิดการมองในแง่ดีน้อยลงว่า เหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นกับตนเอง

เบื้องหลังของ Optimistic Bias คืออะไร?
เบื้องหลังของ Optimistic Bias คือ ความกลัว ความรู้สึกผิด ความต้องการปกป้องตัวเอง ดังนั้น Dr.Michael Gregor กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นมากในการจัดการ Optimistic Bias คือความตระหนักรู้ ยอมรับปัญหา เผชิญหน้ากับความกลัว และเปลี่ยนความกลัว ความรู้สึกผิด ความต้องการปกป้องตัวเอง เป็นความรับผิดชอบและความรู้สึกเร่งด่วนที่จะลงมือจัดการปัญหานั้น การสนับสนุนด้านกำลังใจจากคนรอบข้างมีความสำคัญมากค่ะ