“ The Gut Microbiota as a lever to improve human health” (ตอนที่ 1)

“ The Gut Microbiota as a lever to improve human health” (ตอนที่ 1)

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email
สรุปเล็กเชอร์ดี “The Gut Microbiota as a lever to improve human health” (ตอนที่ 1)
 
โดย Assc.Prof.Erica Sonnenburg
Stanford Center for Clinical Research
 
ตามที่พี่ปุ๋มสัญญาไว้ว่าจะสรุปเล็กเชอร์ดีของ Assc.Prof.Erica Sonnenburg จาก Stanford Center for Clinical Research ซึ่งเป็นเล็กเชอร์ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ความยาวเกือบ 2 ช.ม.ให้ได้ฟังกัน ตอนที่ 1 มาแล้วค่ะ
 
พี่จะสรุปโดยใช้เลขข้อกำกับ เพราะจะมีสไลด์จากเล็กเชอร์ของ Erica ประกอบความเข้าใจในข้อนั้นด้วยค่ะ
 
ขอบเขตของเล็กเชอร์เกือบ 2 ช.ม. มี 3 หัวข้อ พี่ปุ๋มจะสรุปบทความละหนึ่งหัวข้อค่ะ
 
1. เพราะอะไรประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารจึงสำคัญมากต่อสุขภาพมนุษย์
2. ประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารส่งอิทธิพลต่อสุขภาพได้อย่างไร
3. เราสามารถที่จะส่งเสริมประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเพื่อปรับปรุงสุขภาพมนุษย์ได้อย่างไร
มาเริ่มหัวข้อแรกกันค่ะ

เพราะอะไรประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารจึงสำคัญมากต่อสุขภาพมนุษย์

1. ตลอดทางเดินอาหารของมนุษย์จะมีเยื่อเมือก (mucous membrane)

เยื่อเมือก (mucous membrane) ที่ปกคลุม ทำหน้าที่เป็นกำแพงป้องกันการรุกล้ำของแบคทีเรียก่อโรคเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และลดการกระตุ้นเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน (Payor’s patch) ที่อยู่ใต้ชั้นเนื้อเยื่อทางเดินอาหาร จากการตื่นตัว และปล่อยสารต้านการอักเสบออกมาโดยไม่จำเป็น
จากรูปที่ 1 เยื่อเมือกเมื่อย้อมสีแล้วจะเห็นเป็นสีเขียวสวยงามมาก ในขณะที่สีแดงคือประชากรจุลินทรีย์ที่อยู่ในทางเดินอาหาร ส่วนสีม่วงคือเซลล์ทางเดินอาหารซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตเยื่อเมือกขึ้นมาปกป้องเซลล์ทางเดินอาหารเอง

2. จำนวนทางพันธุกรรม

เปรียบเทียบมุมจำนวนทางพันธุกรรม มนุษย์มีจำนวนพันธุกรรมเพียง 1% ในขณะที่มีจำนวนพันธุกรรมของประชากรจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร 99% ซึ่งพันธุกรรมของประชากรจุลินทรีย์ที่อยู่ในทางเดินอาหารของเรานี้ มีอิทธิพลสามารถกำกับระบบชีวะวิทยาทุกแง่มุมของร่างกาย

3. เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในการทำงานวิจัยในสัตว์ทดลอง

เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้งานวิจัยทางด้านประชากรจุลินทรีย์รุ่งเรืองมากหลังปี 2559 เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในการทำงานวิจัยในสัตว์ทดลอง ได้แก่
 

3.1 เทคโนโลยีในการควบคุม Microbial transplant ให้เปลี่ยนถ่ายประชากรจุลินทรีย์เฉพาะที่ต้องการเท่านั้นลงไปในสัตว์ทดลอง การสร้างห้องทดลอง Bubble Seal ซึ่งมีเครื่องกรองอากาศแบบ Hepa Filter เพื่อควบคุมไม่ให้มีประชากรจุลินทรีย์อื่นที่ไม่ต้องการปนเปื้อนเข้าไปในสัตว์ทดลองได้เลย

3.2 Anaerobic Chamber ที่มีระดับออกซิเจนเท่ากับศูนย์ เพื่อจำลองสภาวะสิ่งแวดล้อมให้ใกล้เคียงสภาวะแวดล้อมภายในลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารให้มากที่สุด ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะศึกษาพฤติกรรมของประชากรจุลินทรีย์ภายนอกทางเดินอาหารได้
 
3.3 เทคโนโลยีสุดท้ายคือ Next Generation Sequencing Technique ที่สามารถจะระบุพันธุกรรมของประชากรจุลินทรีย์จากส่วนต่างๆของร่างกายไม่ว่าจะเป็น ปาก ลำคอ จมูก ทางเดินอาหารในมนุษย์ที่ใช้ชีวิตต่างกัน กินอาหารต่างกัน จากทั่วโลกได้ในราคาที่ถูกลง

4. ประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเชื่อมโยงกับการเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด

ประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเชื่อมโยงกับการเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น
 
-โรคอ้วน/Metabolic Syndromes (เบาหวาน หัวใจ Multiple Sclerosis)
-โรคระบบภูมิคุ้มกัน (Auto Immune Diseases มะเร็ง ภูมืแพ้ หอบหืด)
-โรคทางสมอง โรคทางจิตเวช (ซึมเศร้า ออทิสติก เป็นต้น)
ซึ่งที่ผ่านมาการรักษาโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ก็เพียงแก้ไขที่อาการแต่ไม่ได้เข้าไปจัดการที่รากของสาเหตุ มีสมมุติฐานหนึ่งที่ระบุว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รากของปัญหาโรคเรื้อรังเหล่านี้เกิดจากความผิดปรกติของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร
ข่าวดีก็คือมนุษย์ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของตัวเองได้ก็จริง แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของเราได้ด้วยการปรับเปลี่ยนโภชนาการและการใช้ชีวิต

5. ความท้าทายของการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายประชากรจุลินทรีย์แบบมุ่งเป้า

ความท้าทายของการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายประชากรจุลินทรีย์แบบมุ่งเป้า (Microbiota Therapeutic Target) dr. Erica กล่าวว่าความท้าทายเกิดขึ้นเพราะ
 
5.1 มนุษย์แต่ละคนมีรูปแบบและความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล
 
5.2 ประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของเราเป็นชุมชนที่ซับซ้อนมาก ประกอบด้วย จุลินทรีย์นับล้านล้านล้านตัว และจำนวนหลายพันสายพันธุ์
 
5.3 กฎระเบียบควบคุมจากคณะกรรมการอาหารและยามีความซับซ้อนและต้องพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากมีความยากกว่าการใช้ยา เพราะประชากรจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กำหนดขนาดในการรักษาได้ยากมากในคนแต่ละคน เมื่อเปลี่ยนถ่ายประชากรจุลินทรีย์จากคนๆหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งแล้ว การที่จะกำจัดออกหากมีความผิดพลาดยากกว่ากำจัดยาเกินขนาดออกจากร่างกายมากๆ

จบการสรุปเล็กเชอร์หัวข้อที่ 1 ค่ะ ในบทความต่อไปเรามาติดตามกันต่อว่า ประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารส่งอิทธิพลต่อสุขภาพได้อย่างไร

เพิ่มความหลากหลายของประชากรจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารได้ ด้วยการเพิ่มใยอาหารจากพืชที่แตกต่างกัน 30 ชนิดในหนึ่งสัปดาห์ และเพิ่มอาหารหมักด้วยจุลินทรีย์ในมื้ออาหารทุกวันค่ะ

แหล่งข้อมูล :
Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

HEALTH IN TOUCH

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในการเปลี่ยน LIFESTYLE สู่การมีสุขภาพที่ดี และ LIFESPAN ที่ยืนยาว

Copyright 2020 © All rights reserved by healthspans