มนุษย์สามารถ HACK การนอนหลับได้หรือไม่

มนุษย์สามารถ “HACK” การนอนหลับได้หรือไม่?

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email
พี่ปุ๋มมาสรุปให้ต่อสำหรับการสัมภาษณ์ Prof.Matthew Walker 3 ช.ม.เต็มทางช่อง Rich Roll Channel ใน Youtube พี่วางลิงค์ไว้ตรงแหล่งข้อมูลแล้วค่ะ
 
ในตอนนี้ Rich Roll ถามคำถามที่น่าสนใจมากว่า ถ้าคนที่ไม่สามารถที่จะนอนให้ได้ 8 ชั่วโมงในแต่ละคืนจริงๆ เขาสามารถชดเชยด้วยการ งีบ(naps) หรือนอนเก็บชั่วโมงเป็นช่วงๆ (Polyphasic) เรียกได้ว่า “Hack การนอน” ได้หรือไม่

เราไม่สามารถ "HACK" การนอนหลับได้

Prof.Matthew ตอบชัดเจนว่า “ไม่ได้” ประโยคต่อมาชัดเจนมากขึ้นไปอีกว่า “There is nothing in biology that would suggest that is what we should be sleeping” ไม่มีอะไรในชีววิทยาที่แนะนำว่าเราควรนอนเช่นนั้นเลย
 
อันที่จริงแล้วมันมีผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำถ้าเรามีรูปแบบการนอนเช่นนี้ มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีรูปแบบการนอนเป็นช่วงสั้นๆหลายช่วง (Highly polyphasic sleep)ในแต่ละวัน (Multiple bouts of sleep) ช่วงเวลาเดียวในชีวิตที่เราเคยนอนแบบนี้คือตอนที่เราเป็นทารก

“ผมขอแนะนำอย่างหนักแน่นว่าพวกเราไม่ควรนอนในรูปแบบนี้”

คำถามจาก Rich Roll ต่อไปก็คือ แต่ในวิวัฒนาการการนอน มันเคยมีรูปแบบการนอนที่แตกต่างจากยุคปัจจุบันหรือไม่
 
Prof.Matthew ตอบว่ามีการโต้แย้งกันในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และก็ยังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ เพราะมีการศึกษาชนเผ่าซึ่งวิถีชีวิตเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคบรรพกาลนัก พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีรูปแบบการนอนยาวรวดเดียว 8 ช.ม. (Monophasic) แบบที่เรานอนกันในปัจจุบัน โดยชนเผ่ามีรูปแบบการนอนเป็น 2 ช่วง (Biphasic) ขึ้นอยู่กับฤดูกาล อย่างเช่นกลางคืนชนเผ่าเหล่านี้จะนอน 6 ถึง 7 ชั่วโมง และจะมีช่วงเวลางีบหลับตอนกลางวัน (siesta) 1-2 ช.ม.
 
นักวิจัยคิดว่า เป็นไปได้ที่การเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทำให้มนุษย์เคลื่อนย้ายธรรมชาติของการนอนจาก Biphasic คือนอนตอนกลางคืน และมีงีบหลับ (siesta) ตอนกลางวัน ไปเป็น นอนยาวรวดเดียว (Monophasic) ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่เป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ต้องการพิสูจน์ว่าเมื่อเราเคลื่อนย้ายธรรมชาติการนอนแบบนี้ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพหลอดเลือดหัวใจบ้าง
การงีบหลับตอนกลางวัน

การงีบตอนกลางวันของชาวกรีก

งานวิจัยนี้ทำในชาวกรีซจำนวนมากกว่า 23,000 คน ซึ่งด้วยวัฒนธรรมจะมีการงีบช่วงกลางวัน (siesta) ตั้งแต่ 14.00-16.00 น. นักวิจัยติดตามการนอน ของคน 23,000 คนเหล่านี้ ซึ่งยกเลิกการงีบช่วงเวลากลางวัน ไปเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่ามีความน่าจะเป็นของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย 37%
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยนี้ที่น่าสนใจมากคือ ในชาวกรีซ 23,000 คนนี้ ยกเลิกการงีบเวลากลางวันราว 2 ชั่วโมง แต่ไม่ได้เพิ่มเวลาการนอนในตอนกลางคืนจาก 6 ชั่วโมงเป็น 8 ชั่วโมงเลย นั่นหมายถึงเขาเหล่านี้ลดเวลาชั่วโมงการนอนของตัวเองลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจในที่สุด
 
คำสัมภาษณ์ในช่วงสุดท้ายก่อนจบหัวข้อ “เราสามารถจะ “Hack” การนอนได้หรือไม่” เป็นคำถามที่น่าสนใจอีกคำถามหนึ่งจาก Rich Roll ว่า

“งั้นตกลงการงีบหลับในเวลากลางวันเพื่อชดเชยการนอนไม่พอในเวลากลางคืน เลียนแบบการนอนของชนเผ่า ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีไม่ใช่หรือ”

Prof.Matthew ตอบว่า การงีบหลับในเวลากลางวัน (siesta) เป็นเหมือน “ดาบสองคม” (A double-edged sword) คือ
 
1. ถ้าคุณคือคนที่มีปัญหานอนหลับยากในช่วงเวลากลางคืน คำแนะนำของผมคือ ไม่ควรใช้การงีบหลับในเวลากลางวันเป็นทางออกในการชดเชยชั่วโมงการนอนที่ไม่พอ เพราะถ้าคุณงีบหลับในเวลากลางวัน คุณกำลังลดการสะสมสารเคมีสำคัญชื่ออะดีโนซีน ซึ่งเป็น “sleep pressure” ที่สำคัญมาก ในช่วงเวลากลางวันถ้าคุณตื่นอยู่ได้นานเท่าไหร่ ร่างกายจะผลิตสารเคมีที่ชื่ออะดีโนซีนออกมามากเท่านั้น ซึ่งการสะสมอะดีโนซีนในช่วงเวลากลางวันจะช่วยเหลือให้คุณง่วงและหลับได้ดียิ่งขึ้นในช่วงเวลากลางคืน (พี่ปุ๋มเคยเขียนโพสต์เรื่อง ทำไมไม่ควรดื่มกาแฟหลังจาก 14.00 น. ก็เป็นเรื่องการที่กาแฟลดปริมาณอะดีโนซีนในสมองนั่นเอง ทำให้เราหลับยากขึ้นในเวลากลางคืน)
 
2. ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาเรื่องการนอนหลับยากในช่วงเวลากลางคืนแต่อย่างใด การงีบหลับกลางวันเป็นประจำ ก็ดูจะไม่ได้เสียหายอะไร แค่ขอให้งีบหลับก่อน 14.00 น. จะได้ไม่เป็นปัญหาในการหลับช่วงเวลากลางคืน
 

ในการสัมภาษณ์ช่วงถัดไปจากนี้ จะเข้าสู่เรื่องเทคนิคในการช่วยให้เราหลับได้ดีขึ้นซึ่งกินเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง พี่ปุ๋มจะฟังและนำมาสรุปต่อไป น่าจะได้อีก 3-4 ตอนเลยทีเดียวค่ะ

หมายเหตุ: Prof.Matthew Walker เขียนหนังสือดีเกี่ยวกับการนอนชื่อ Why We Sleep ตีพิมพ์ในปี 2560 มีฉบับแปลภาษาไทยออกมาเมื่อปีที่แล้วในชื่อ “นอนเปลี่ยนชีวิต” โดยสำนักพิมพ์ bookscape หามาอ่านกันได้ค่ะ
Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on print
Share on email

HEALTH IN TOUCH

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในการเปลี่ยน LIFESTYLE สู่การมีสุขภาพที่ดี และ LIFESPAN ที่ยืนยาว

Copyright 2020 © All rights reserved by healthspans